X

ศูนย์จีโนมฯ เผย..โอไมครอนพันธุ์ใหม่ จ่อแซง “BA.5” เอเชียระบาดแล้ว 59%

1 ก.ย. 2565
3160 views
ขนาดตัวอักษร

ศูนย์จีโนมฯ รพ.รามาธิบดี เผย โอไมครอน สายพันธุ์ใหม่ “BA.4.6” อาจมาแทน BA.5 ขณะที่ข้อมูล สธ.ไทย เผย ต้นเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา BA.4 / BA.5 พบระบาดเพิ่มขึ้น พื้นที่ กทม. 91.5% ส่วนภูมิภาค เพิ่มขึ้น 80% ซึ่งสัดส่วน BA.5 ต่อ BA.4 คือ 4:1 แสดงว่า BA.5 แพร่เร็วกว่า BA.4 และล่าสุดข้อมูล ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ เผย “BA.4.6” น่าจะมาแทนที่ “BA.5” ในอเมริกา เร็ว ๆ นี้



โดยเมื่อวานนี้ (31 ส.ค. 2565) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics กล่าวถึง แนวโน้มการแพร่ระบาดของ โอไมครอน สายพันธุ์ใหม่ “BA.4.6” ที่อาจมาแทน BA.5 โดยระบุว่า



ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญสังเกตพบ “โอไมครอน BA.4.6” มีการเติบโต แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า BA.5 ในหลายประเทศ

เดือนสิงหาคม 2565 “ทั่วโลก” พบ BA.4.6 มีความได้เปรียบ ในการเติบโต แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BA.5 ถึง 24% ในขณะที่เดือนกรกฎาคม เพียง 15% (ภาพ1)



“สหรัฐอเมริกา” พบ BA.4.6 มีความได้เปรียบ ในการเติบโต แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 25% (ภาพ2-4)



“ประเทศในแถบเอเชีย” พบ BA.4.6 มีความได้เปรียบ ในการเติบโต แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BA.5 ถึง 59% (ภาพ 5)



** ส่วนประเทศไทย ยังไม่พบโอไมครอน BA.4.6 **

ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (U.S. CDC) ได้อัปเดตข้อมูลสัดส่วน โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย ประจำสัปดาห์ที่ 27/8/2565 บ่งชี้ชัดเจนว่า สายพันธุ์โอไมครอนใหม่ ที่มีชื่อว่า “BA.4.6” น่าจะเอาชนะ และเข้ามาแทนที่ “BA.5” ในสหรัฐอเมริกาได้เร็ว ๆ นี้

แม้ว่าโอไมครอน BA.4.6 จะปรากฏขึ้น ในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 แต่ปริมาณผู้ติดเชื้อ ยังน้อยกว่า 2% ของผู้ป่วยรายใหม่ จนมาถึงเดือนกรกฎาคม 2565 จึงค่อยเพิ่มจำนวนขึ้น

ในขณะที่อัตราผู้ติดเชื้อ โอไมครอน BA.5 รายใหม่ยังคงเท่าเดิม จากการรายงานล่าสุดของ CDC จำนวนผู้ติดเชื้อ โอไมครอน BA.4.6 รายใหม่ในสัปดาห์นี้ อยู่ที่ 7.5% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งหมด (ภาพ 3)

แต่ข่าวดี ก็คือว่า ในอเมริกา ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเกือบทุกรัฐลดลง ดังนั้นที่ต้องเฝ้าจับตา คือ โอไมครอน BA.4.6 ซึ่งกำลังจะคืบคลาน เข้ามาแทนที่ โอไมครอน BA.5 อย่างช้า ๆ

นอกจากนี้ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ได้โพสต์ลิงก์ ขยายความเกี่ยวกับ ข้อมูล “โอไมครอน BA.4.6” ดังนี้ (3 หัวข้อ)

+ What is BA.4.6? New coronavirus subvariant impacts 4 states across Midwest
https://www.youtube.com/watch?v=JJXv20TcHVY

+ New Covid Variant BA.4.6 Outcompeting Dominant BA.5 Across Swath Of U.S. For First Time
https://deadline.com/2022/08/new-covid-variant-ba-4-6-u-s-midwest-1235103594

+ This New COVID Variant Is Shaping Up to Be a Déjà Vu Nightmare
https://www.thedailybeast.com/new-ba46-covid-variant-is-shaping-up-to-be-a-deja-vu-nightmare



อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (วันที่ 8 สิงหาคม 2565) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ได้โพสต์เปิดเผยข้อมูลว่า ทางศูนย์จีโนมฯ เริ่มติดตามโอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4.6 ที่พบระบาดในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการเติบโต แพร่ระบาด (relative growth advantage) สูงกว่า BA.4 / BA.5 และ BA.2.75 โดยสายพันธุ์ย่อยนี้ ยังไม่พบในประเทศไทย (ข้อมูลเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2565)

ในขณะที่ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ( U.S. CDC) ปรับให้โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4.6 เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) เนื่องจากมีการระบาด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลายพันธุ์ต่างไปจาก สายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น ประมาณ 83 ตำแหน่ง ในขณะที่ BA.2.75 กลายพันธุ์ไป 95 ตำแหน่ง, BA.5 กลายพันธุ์ไป 90 ตำแหน่ง, และ BA.4 กลายพันธุ์ไป 78 ตำแหน่ง ต่างจากไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่น(ภาพ 0)

ข้อมูลจาก U.S. CDC พบว่า BA.4.6 คิดเป็น 4.1% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา (30 กรกฎาคม 2565) โดยพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในรัฐ ไอโอวา, แคนซัส, มิสซูรี และเนบราสกา



โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4.6 คล้ายคลึง BA.4 เพียงแต่มีการกลายพันธุ์ที่หนาม ต่างไปจากโอไมครอนอื่น 1 ตำแหน่ง (Spike R346T mutation) ยังไม่มีข้อมูล ด้านการหลบภูมิคุ้มกัน หรือ การดื้อต่อวัคซีนเจเนอเรชันแรก และเจเนอเรชันสอง ที่จะมีให้ได้ฉีดกันปลายปีนี้ รวมทั้งยังไม่มีรายงาน ความรุนแรงของโรคที่แตกต่างไปจากโอไมครอน สายพันธุ์ย่อยอื่น อย่างมีนัยสำคัญ (ภาพ1)




โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย  BA.4.6 มีความได้เปรียบ ในการเติบโต แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BA.5 ที่ระบาดทั่วโลกประมาณ 15% (ภาพ3)และ BA.5 ที่ระบาดในเอเชียประมาณ  28%  (ภาพ4)




โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4.6 มีความได้เปรียบ ในการเติบโต แพร่ระบาด (relative growth advantage) เหนือกว่า BA.2.75 ที่ระบาดทั่วโลกประมาณ 12% (ภาพ5) และ BA.2.75 ที่ระบาดในเอเชียประมาณ  53% (ภาพ6)

ดูรายละเอียด “โอไมครอน BA.4.6”  ตอนที่ 1 ได้จาก link
https://www.facebook.com/CMGrama/posts/5293027190805018


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 เว็บไซต์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ข้อมูล กล่าวถึง สธ. ยังไม่พบ “โควิด” BA.4.6 ในไทย และเปิดเผยอีกว่า กระทรวงสาธารณสุข เผย ไทยพบ “โควิด” BA.2.75 จำนวน 5 ราย โดย 1 ราย ไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้มีอาการรุนแรง ส่วน BA.4.6 ยังไม่พบ



โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ได้แถลง การเฝ้าระวัง สายพันธุ์โควิด-19 ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา (30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2565) ตรวจเฝ้าระวัง สายพันธุ์โควิด-19 จำนวน 382 ตัวอย่าง พบเป็น


+ สายพันธุ์ BA.1 จำนวน 1 ราย คิดเป็น 0.26%
+ สายพันธุ์ BA.2 จำนวน 58 ราย คิดเป็น 15.18%
+ สายพันธุ์ BA.4 / BA.5 จำนวน 322 ราย คิดเป็น 84.29%
+ และสายพันธุ์ BA.2.75 จำนวน 1 ราย คิดเป็น 0.26%


โดยสายพันธุ์ BA.4 / BA.5 พบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พื้นที่ กทม. พบ 91.5% ส่วนภูมิภาค พบเพิ่มขึ้นเป็น 80% เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว พบเป็น BA.5 ต่อ BA.4 ในสัดส่วน 4:1 แสดงว่า BA.5 แพร่เร็วกว่า BA.4 สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ส่วนเรื่องความรุนแรง ยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากผู้ติดเชื้อ เกือบทั้งหมดเป็น BA.4 / BA.5 จึงเปรียบเทียบความรุนแรงยาก แต่เบื้องต้นไม่น่าแตกต่างกันมาก

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ทุกวันนี้ โรคโควิด-19 ยังอยู่ แต่เรามียา และวัคซีน ซึ่งมีคนฉีดวัคซีนจำนวนมาก และคนส่วนใหญ่ ยังสวมหน้ากากอนามัย ทำให้ปลอดภัยมากขึ้น แต่อยากย้ำ ให้คนที่ฉีดวัคซีนเข็มสุดท้าย นานกว่า 3 - 4 เดือน มาฉีดเข็มกระตุ้น เพื่อให้ภูมิคุ้มกันมากพอ ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ เหมือนกรณีผู้ป่วยรายหนึ่ง ของสายพันธุ์ BA.2.75 ที่อาการหนัก ต้องอยู่ในไอซียู เพราะไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย และอายุมาก ทำให้เสี่ยงเป็นอันตราย


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Center for Medical Genomics
(ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)
https://www.facebook.com/CMGrama

เว็บไซต์ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
https://www3.dmsc.moph.go.th


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล