X

บาตรพระ หรือ พระสงฆ์ สิ่งใดเกิดขึ้นก่อน ?

19 ต.ค. 2567
200 views
ขนาดตัวอักษร

กำเนิดบาตรพระพุทธเจ้า

อินเดียสมัยก่อนพุทธกาล นักบวชที่เรียกว่าสันยาสี ต่างมีบาตรเป็นภาชนะรับอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตยู่เดิมแล้ว บาตรเหล่านั้นมักทำจากวัสดุสารพัด ทั้งผลน้ำเต้าแห้ง ดินเผา หรือแม้แต่กะโหลกสัตว์และมนุษย์ ครั้งเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตัดสินพระทัยออกบวชเพื่อแสวงหาการหลุดพ้น ท้าวมหาพรหมองค์หนึ่งนาม “ฆฏิการพรหม” ได้นำจีรและบาตรดินมาถวายเจ้าชายสิทธัตถะเพื่อใช้เป็นเครื่องบริขาร ต่อมาบาตรดินใบนั้นได้อันตรธานหายไป ตามคติที่เชื่อว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงผนวชเสร็จสิ้น บาตรใบนั้นจึงกลับไปประดิษฐานอยู่บนพรหมโลกเช่นเดิม เพื่อรอให้ฆฏิการพรหม ได้ใช้ถวายให้ผู้ที่จะออกบวชเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปในกาลข้างหน้า


ในวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ พระพุทธองค์มิได้ถือครองบาตรใบใด แต่บาตรพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในวันที่สี่สิบเก้าภายหลังที่พระองค์ตรัสรู้บรรลุธรรม เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อสิ้นสุดการเสวยวิมุตติสุขโดยที่พระองค์มิได้เสวยพระกระยาหารมาต่อเนื่องเจ็ดสัปดาห์ วันนั้นมีพ่อค้าสองคน นาม “ตปุสสะ” และ “ภัลลิกะ” เดินทางผ่านมาพบพระพุทธองค์แล้วเกิดความเลื่อมใส ประสงค์จะถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้า ทำให้พระพุทธองค์ทรงรำพึงถึงวิธีการที่จะทรงรับภัตตาหารนั้น ทันใดนั้นท้าวจตุโลกบาลซึ่งประจำอยู่ทางทิศทั้งสี่ได้รับรู้ และต่างนำบาตรสีดั่งถั่วเขียวมาถวายพระองค์ จากสี่ทิศรวมบาตรได้สี่ใบ พระพุทธเจ้าทรงรับไว้ทั้งหมดเพื่อรักษาศรัทธา


ปางประสานบาตร

อิริยาบถหนึ่งของพระพุทธองค์อันเป็นที่มาแห่งพระพุทธรูปปางประสานบาตร คือ เมื่อทรงรับบาตรทจากท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ทิศแล้ว พระองค์ประสงค์จะมีบาตรเพียงหนึ่งใบ จึงแสดงพุทธปาฏิหาริย์ประสานบาตรทั้งสี่เป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นบาตรของพระพุทธจึงอุบัติขึ้นในวันที่สี่สิบเก้าหลังการตรัสรู้ ก่อนออกเผยแพร่พระศาสนาและก่อนการเกิดขึ้นของพระสงฆ์สาวกรูปแรกที่จะมีขึ้นในอีกไม่ถึงสองสัปดาห์ต่อมา

ตำนานยังระบุว่าพระพุทธองค์ทรงใช้บาตรใบเดียวใบนั้นไปตลอดพระชนม์ชีพ และก่อนเสด็จดับขันธปรินิพานไม่นาน พระพุทธองค์ได้ประทานบาตรให้แก่ชาวแคว้นวัชชีแห่งเมืองเวสาลี ต่อมาชาววัชชีได้นำบาตรพระพุทธเจ้าบรรจุไว้ในสถูปขนาดใหญ่ นาม “เกสรียาสถูป” ปัจจุบันนักโบราณคดีชาวอินเดียค้นพบสถูปในตำนานแห่งนี้แล้วที่รัฐพิหาร อยู่บนเส้นทางระหว่างเมืองเวสาลีมุ่งหน้าเมืองกุสินารา อันเป็นเมืองที่พระพุทธองค์ปรินิพาน


ชุมชนบ้านบาตร รอยประสานผ่านกาลเวลา

​ในประเทศไทยเมื่อครั้งอดีต บาตรแทบทุกใบเป็นฝีมือของชาวชุมชนบ้านบาตรเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ใกล้ภูเขาทอง ชุมชนเก่าแก่ที่อยู่คู่มากับกรุงเทพ หากย้อนไปในตอนนั้น ทุกครัวเรือนในชุมชนล้วนเป็นช่างทำบาตร แต่ละบ้านใช้ความถนัดของครอบครัวแบ่งงานกันทำในแต่ละขั้นตอนของงานหัตถกรรม “บาตรบุทำมือ” บางบ้านถนัดตีบาตร ขึ้นรูปบาตร ทำลวดลายบาตร หรืองานปลีกย่อยอย่างการตัดชิ้นเหล็ก หรือ ตะไบบาตร


เอกลักษณ์ของชาวชุมชุนบ้านบาตร คือ ทำบาตรที่เป็นไปตามพุทธบัญญัติ คือทำจากเหล็ก ส่วนขั้นตอนการทำยังคงใช้กรรมวิธีโบราณ ไม่น่าเชื่อว่าคติความเชื่อเรื่องบาตรทั้งสี่ของท้าวจตุโลกบาลและการประสานเป็นหนึ่งเดียวของบาตรใบแรก ยังคงแฝงไว้ในกระบวนการผลิต


หลังจากช่างบาตรตัดเหล็กเป็นรูปกากบาทซึ่งเรียกว่า “กง” แล้วดัดงอขึ้นรูปเป็นทรงบาตร จะเกิดเป็นช่องสี่ช่อง แต่ละช่องช่างจะทำแนวตะเข็บไว้ จากนั้นนำเหล็กแผ่นเล็กที่มีแนวตะเข็บทั้งสองด้านมาต่อตะเข็บติดกัน ขั้นตอนนี้คือการ“ประสานบาตร” ดุจปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าเคยประสานบาตรสี่ใบตามเรื่องราวเมื่อในครั้งพุทธกาล ต่างกันที่ยุคนี้เป็นการประสานชิ้นส่วนบาตรด้วยการลงผงทองแดงและน้ำยาประสานทองตามเส้นตะเข็บให้เป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำไปเผาไฟ ขั้นตอนนี้มีศัพท์เรียกเฉพาะว่า “ระบมบาตร” รอจนกระทั่ง “บาตรสุก” จึงนำบาตรไปทุบตะเข็บ ตีผิวให้เรียบเนียน แต่งด้วยตะไบ แล้วเผารมดำอีกครั้ง


บาตรเหล็กถังยางมะตอย ถึง บาตรสแตนเลส

ในยุคที่การทำถนนหนทางเริ่มราดยางมะตอยเมื่อกว่าห้าสิบปีที่แล้ว ถังเหล็กใส่ยางมะตอยเมื่อเทหมดแล้วกลายเป็นที่นิยมใช้ตัดเป็นวัสดุทำบาตรของชาวชุมชน เพราะเป็นเหล็กเนื้อบาง ตีง่าย ราคาไม่แพง แต่เมื่อเวลาผ่านไปความซบเซาของชุมชนได้เกิดขึ้น เมื่อมีประกาศอนุโลมให้พระภิกษุใช้บาตรที่ผลิตด้วยเครื่องจักร หรือที่เรียกว่า “บาตรปั๊ม” แทนได้ ซ้ำด้วยการเกิดขึ้นของบาตรสแตนเลส ส่งผลให้งานบาตรบุทำมือของชาวชุมชนบ้านบาตรไม่ตอบโจทย์เรื่องราคาและระยะเวลาการผลิตที่นานกว่า บาตรจากโรงงานภายนอกเป็นที่ต้องการมากขึ้น การซื้อบาตรจากในชุมชนน้อยลงจนหลายครอบครัวหันไปทำอาชีพอื่น ไม่สืบสานงานหัตถกรรมอันประณีตต่อไปยังลูกหลาน


แม้บาตรจะเป็นบริขารสำคัญของพระสงฆ์และการบิณฑบาตถือเป็นกิจวัตรสำคัญในพระพุทธศาสนา แต่งานบาตรบุทำมือที่ชุมชนบ้านบาตรกลับกลายเป็นงานหัตถกรรมที่กำลังขาดผู้สืบทอด วันใดวันหนึ่งหากเราหลงเดินเข้าไปในย่านชุมชนบ้านบาตร แล้วได้ยินเสียงตีเหล็กทุบบาตรดังก้องอยู่ในชุมชน ย่อมหมายถึงความหวังในการสืบทอดงานหัตถศิลป์แขนงนี้ ยังพอหลงเหลืออยู่

ติดตามคลิปเต็ม หลงรักบ้านบาตร หนึ่งเดียวในโลกได้ที่ 

📌 https://fb.watch/viZyWcYtR-/?

📌https://youtu.be/ffG2MxB0L7Q?si=V7P5aCgrMndjObAF

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล