X

มะระขี้นก สมุนไพรสู่ตลาดโลก บพท. พร้อมดันวิจัยเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจฐานราก

7 ก.ค. 2567
1450 views
ขนาดตัวอักษร

7 ก.ค.67 - บพท.เดินเครื่องลุยงานวิจัยเพื่อต่อยอดเศรษฐกิจฐานราก เน้นการใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี มะระขี้นก สมุนไพรสู่ตลาดโลก หนึ่งในตัวอย่างความก้าวหน้า


ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเยี่ยมชมนิทรรศการในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ที่เมืองทองธานี ว่า หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว.) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ จากการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Area-Based Collaborative Research) ซึ่งเป็นฐานงานเดิมจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทักษะการจัดการและชุดความรู้การจัดการเชิงคุณภาพที่มีมากกว่า 10 ปี ได้ส่งมอบและพัฒนาออกมาเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการวิจัยเชิงพื้นที่และรูปธรรมความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ถือว่าเป็นบทบาทหน้าที่ที่ท้าทายและมีความคาดหวังสูง ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่ายในปีที่ผ่านมา 


ทั้งสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่สนับสนุนการดำเนินงานเชิงนโยบาย แผนยุทธศาสตร์และงบประมาณ รวมทั้งการบริหารจัดการภายในที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน ทำให้หน่วย บพท. สามารถวางโปรแกรมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Program) และดำเนินการขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือกับประชาคมวิชาการได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นไปตามกลไกการปฏิรูประบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวตกรรม (อว.)


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจัดสรรทุนวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ การพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่ธุรกิจขนาดเล็ก วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมในระดับพื้นที่ด้วยการบริหารและจัดการแผนงานวิจัยที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) และแหล่งทุนอื่น ๆ ของประเทศ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และข้อผูกพันการรับทุนอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลตามเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญตามนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2570

บพท.ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนโครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชนร่วม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ที่นำแนวคิดห่วงโซ่คุณค่ามุ่งเน้นเป้าหมายกลุ่มคนยากจน โดยมีการออกแบบการพัฒนาธุรกิจการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ทำการวิจัยและพัฒนา มะระขี้นกสายพันธุ์ใหม่ขึ้น ทำให้เกษตรกรแต่ละชุมชนร่วมมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตของมะระสายพันธ์ใหม่ ตั้งแต่ชุมชนร่วมผู้ผลิตเมล็ดพันธ์ ผู้ปลูกมะระขี้นก ผู้รวบรวมมะระขี้นก ผู้แปรรูปมะระขี้นก โรงงานผลิตยาแผนโบราณจากมะระขี้นก ส่งผลไปถึงผู้บริโภคยาจากมะระขี้นกคือกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ล่าสุดเกิดมูลค่าทางการตลาดแล้วกว่า 250 ล้านบาท ในการจองผลิตภัณฑ์ตามข้อสัญญาจากกลุ่มทุนในและต่างประเทศ  


บพท.เร่งการเปลี่ยนแปลงฐานรากสองระดับคือ กลุ่มธุรกิจชุมชนไม่ว่าจะเป็นวิสาหกิจชุมชน โอท็อป เอสเอ็มอีหรือทุกอาชีพ เป็นกลุ่มที่รัฐส่งเสริมอยู่แล้ว มีทั้งเข้มแข็งแล้วก็ยังไม่เข้มแข็ง กลุ่มที่เข้มแข็งไปได้ไม่เป็นไร แต่สำหรับชุมชนที่ยังไม่เข้มแข็ง บพท. จะเอาตลาดเข้ามาจับแล้วสร้างโอกาสทางด้านการตลาด ไปสู่ฐานราก ส่งเสริมการพัฒนาเขาด้วยงานวิจัยนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารสำคัญ วิธีการบริหารจัดการเชิงโครงสร้างเชิงธุรกิจ เชิงผู้ประกอบการ บพท.จะเป็นตัวกลางทำให้เกิดห่วงโซ่คุณค่าใหม่ของสมุนไพรไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมะระขี้นกซึ่งไม่เคยมีในประเทศไทย

ส่วนที่สอง กลุ่มแบบนี้จะต้องเชื่อมโยงกับครัวเรือนยากจน ครัวเรือนที่เป็นฐานรากจริงๆแล้วตอนนี้เรามีระบบข้อมูล ชี้เป้าครัวเรือนยากจนที่อยู่ในจังหวัดยากจนไม่ว่าจะเป็นสุรินทร์ ร้อยเอ็ด บพท. จะชี้ให้เห็นเลยว่า ครัวเรือนยากจนที่กระจายอยู่ในพื้นที่  สามารถเข้ามาเพาะปลูก เข้ามาใช้แรงงาน เข้ามาสร้างรายได้ได้เช่นกัน กลายเป็นฐานการผลิตที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรใช้พื้นจำกัด ใช้ความชำนาญที่มีงานวิจัยประกอบ สามารถกระจายเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะครัวเรือนยากจน หน่วยงานใดสนใจขอรับทุนวิจัยดูรายละเอียดได้ที่เพจ บพท.

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล