X

หลงรัก “บ้านบาตร” บาตรเหล็กทำมือหนึ่งเดียวในโลก

19 ต.ค. 2567
1210 views
ขนาดตัวอักษร


19 ต.ค.67 - จากกรุงศรีอยุธยา สู่รัตนโกสินทร์ ยุคที่ทุกอย่างล้ำสมัยแม้กาลเวลาจะผ่านไปอย่างไร แต่เสียงตีบาตรของชุมชนบ้านบาตรยังคงอยู่ ที่สานต่อฝีมือการตีบาตรสูตรดั้งเดิม เป็นมนต์เสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้ที่ไม่เหมือนกับที่ใดในโลก หลงรักไทย Lost in Thai Mystery “หลงรักบ้านบาตร บาตรเหล็กทำมือหนึ่งเดียวในโลก”


ว่ากันว่าต้นกำเนิดของชุมชนแห่งนี้ย้ายถิ่นฐานมาจากกรุงศรีอยุธยา ก่อนมาตั้งรกรากใหม่ใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์ หรือกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน นั้นคือ “ชุมชนบ้านบาตร” ที่ไม่เพียงออกมาตั้งรกรากอยู่อาศัย แต่ยังพ่วงฝีมือด้านการตีบาตรเหล็กที่มีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะ สืบสานต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน ที่นี้นับได้ว่าเป็นแหล่งรวมยอดฝีมือช่างตีบาตรเหล็กเอาไว้ครบด้าน


เอกลักษณ์ของบาตรพระฝีมือของ “ชุมชนบ้านบาตร” คือบาตรเหล็กต้องมีรอยตะเข็บ 8 ชิ้น ที่ปรากฏอยู่รอบบาตร ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพุทธประวัติ ที่ว่าบาตรใบแรกของพระพุทธเจ้าคือบาตรที่ฆฏิการพรหม นำมาถวายและเกิดหายไป ท้าวจตุมหาราช เทพผู้อภิบาลรักษาโลกประจำอยู่ในทิศทั้ง 4 จึงนำบาตรศิลามาถวายองค์ละ 1 ใบ พระองค์ทรงรับบาตรทั้งสี่อธิษฐานเข้าเป็นใบเดียวกัน จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการสร้างบาตรให้เป็นรอยประสานต่อกันเป็นตะเข็บเปรียบกับการประสานบาตรของพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น


การทำบาตรเหล็กมี 8 ขั้นตอน ได้แก่ การตัดแผ่นเหล็ก การทำขอบบาตร  การเชื่อมประสานรอยตะเข็บ การตีตะเข็บ การออกแบบรูปทรง การตีเม็ด การตะไบ การลงดำหรือการทำสี โดยบาตร 1 ใบ จะใช้เวลาทำประมาณ 3 วัน โดยช่างจะแบ่งหน้าที่กันทำแต่ละขั้นตอน


เริ่มจากการต่อเหล็กและตีขึ้นรูปบาตรด้วยมือ นำเหล็กมาตีเป็นขอบบาตรก่อน แล้วจึงทำตัวบาตรด้วยการนำเหล็กแผ่นมาตัดเป็นรูปกากบาท นำมาโค้งขึ้นโครงบาตร เรียกว่า กงบาตร จากนั้นนำมาเข้าขอบและติดกงด้วยการประกอบเหล็กหน้าวัว เมื่อติดกงแล้วเสร็จทุกด้านจะได้บาตรที่มีรอยตะเข็บ 8 ชิ้น 


จากนั้นจึงประสานรอยต่อด้วยการเป่าแล่น โดยนำบาตรไปชุบน้ำแล้วหยอดผงทองแดงและน้ำยาประสานทองตามเส้นตะเข็บ แล้วจึงนำบาตรไปเผาจนบาตรสุก เพื่อให้เหล็กประสานเป็นเนื้อเดียว จากนั้นนำไปตีตามขั้นตอน โดยปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนให้สะดวกขึ้น คือการเชื่อม แล้วนำมาเจียและตะไบตกแต่งให้เรียบร้อยเป็นขั้นตอนสุดท้าย จากนั้นจะนำไปบ่มหรือรมควันเพื่อป้องกันสนิม และทำให้บาตรขึ้นสีต่างๆ ตามความต้องการ


คุณลุงช่างทำบาตรท่านหนึ่ง ได้เล่าประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจมาก คุณลุงได้ทำอาชีพนี้มากว่า 60 ปี เรียกว่าเป็นยอดฝีมือเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะการเชื่อมบาตรที่หาใครเทียบได้ และยังได้เจอกับพี่จอยที่ตีบาตรให้เป็นทรงสวย เห็นตัวเล็กๆ แต่เทคนิคฝีมือไม่ธรรมดาเลย ซึ่งลองตีบาตรดูแล้วเอาเข้าจริงยากไม่ใช่เล่น กว่าจะได้บาตรเหล็กเรียบๆ แบบพี่ๆ เขา คงใช้เวลาอีกหลายวันแน่ๆ เลย 


“ดีใจนะที่เสียงตีบาตรของชุมชนบ้านบาตรยังคงอยู่ อยู่เป็นชุมชนที่ได้รับการบันทึกว่าว่าเป็นชุมชนเดียวในไทย หรืออาจจะแห่งเดียวในโลกที่ยังคงอนุรักษ์การทำบาตรเหล็กแบบดั้งเดิมอยู่จนถึงวันนี้ ก็หวังว่าเสียงตีบาตรที่นี่ยังอยู่ไม่หายไปอีกนานๆ”


แถวนี้ยังมีร้านอาหารเพียบ โดยเฉพาะร้านบ้านๆ เลือกกินเลือกอร่อยได้ตามชอบ ยิ่งย่านนี้คนรู้จักมากขึ้น ร้านบ้านๆในตรอกต่างๆ ก็มีคนรู้จักมากขึ้นด้วย รับลองอร่อยถูกใจแน่นอน


ใกล้ๆ กันเห็นเด่นมาแต่ไกล นั้นไงวัดสระเกศ หรือวัดภูเขาทอง เพียงเดินถัดจากชุมชนบ้านบาตรไม่กี่ซอยก็ถึงแล้ว เด่นที่สุดก็ต้ององค์พระเจดีย์ภูเขาทอง ที่อยู่บนยอดสูงสุด “วัดสระเกศ” เป็นวัดโบราณ ที่มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงปฏิสังขรณ์พระราชทานนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ” ส่วน “ภูเขาทอง” สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เดิมไม่ได้ตั้งใจให้เป็นภูเขาแล้วมีเจดีย์ข้างบน แต่ตั้งใจจะ สร้างพระปรางค์ใหญ่ แต่ด้วยดินมีลักษณะอ่อนอยู่ใกล้ริมน้ำ ทำให้ทรุดลงเป็นภูเขา

จนสมัยรัชกาลที่ 5 ได้อัญเชิญพระบรมสารีสริกธาตุ มาไว้ในพระเจดีย์ พระราชทานนามว่า "สุวรรณบรรพต" เจดีย์ภูเขาทองมีความสูงจากฐานจนถึงยอดพระเจดีย์ 77 เมตร


เดิมมีสีขาว แต่เริ่มเปลี่ยนมาเป็นสีทองตอนบูรณะปี 2509 ซึ่งในปีนั้นมีการบูรณะพระบรมมหาราชวัง แล้วเหลือโมเสกจำนวนหนึ่ง จึงคัดเอามาหุ้มองค์พระเจดีย์ จนกลายเป็นสีทองนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


ส่วนใครอยากจะขึ้นไปที่กราบสักการะบรมสารีริกธาตุ องค์พระเจดีย์บนยอดภูเขาทอง จะต้องเดินขึ้นบันได ทั้งหมด 344 ขั้น ที่เมื่อขึ้นมาแล้วได้อิ่มทั้งบุญ และยังได้ชื่นชมกับความสวยงามของวิวกรุงเทพ 360 องศาอีกด้วย 


ที่สำคัญนี่เเป็นโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตที่จะได้เห็นการบูรณะองค์เจดีย์ภูเขาทอง ที่ว่ากันว่าเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ในรอบกว่า 50 ปี ซึ่งเราจะสามารถร่วมทำบุญติดโมเสกใหม่แทนชุดเดิมที่ชำรุด นับว่าเป็นการทำบุญที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ ที่ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเราจะได้เห็น และมีโอกาสร่วมบูรณะองค์เจดีย์ภูเขาทอง ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ


นอกจากนี้วัดสระเกศยังมีพระพุทธรูป ที่เป็นที่ศรัทธาอีก 5  องค์ คือ 


หลวงพ่อโต เชื่อกันว่าการมาสักการะบูชาหลวงพ่อโต วัดสระเกศ สามารถอธิฐานขอบารมี ด้านความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ให้มีความเจริญเติบโต ไม่ต้องบนบานด้วยสิ่งใด สามารถตั้งจิตอธิฐานกับหลวงพ่อโตได้เลย แต่หากอยากจะถวายอาหารใดๆ ให้บูชาด้วยขนมไทยสีทอง เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง แล้วอธิฐานจิต ลาอาหารนั้นๆ กลับไปโดยไม่จำเป็นต้องตั้งไว้นานเป็นสิริมงคลกับครอบครัวนั้นเอง


หลวงพ่อโชคดี เชื่อว่า จะประทานพรด้านความสำเร็จ โชคดีในหน้าที่การงาน แคล้วคลาดปลอดภัย ดั่งใจปรารถนา


หลวงพ่อดวงดี เชื่อว่า ย่อมมีดวงชะตาดี เป็นที่รักของมิตรสหาย แลอดภัยจากอุปสรรคทั้งปวง


หลวงพ่อดำ เล่ากันว่า สร้างไว้ให้เพื่อเจ้านายและพุทธบริษัททั่วไปที่ไม่สามารถขึ้นไปบูชาบนองค์ บรมบรรพตได้บูชาหลวพ่อดำแทน


พระอัฏฐารส พุทธรูปยืนที่มีความสูงที่สุด ในกรุงเทพมหานคร มีความสูงถึง 5 วา 1 ศอก 10 นิ้ว หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ โดยไม่มีการเชื่อมต่อ นับว่าเป็นการหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ ที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย ซึ่งในพระวิหารพระอัฏฐารส ใช้เป็นสถานที่ ประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ทำน้ำพระพุทธมนต์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่สมัย ร. 3 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 180 ปี


นับเป็นประสบการณ์เดินทางอีกครั้งหนึ่งที่เห็นอีกมุมของเรื่องราวต่างๆจากการออกเดินทาง ได้หลงเสน่ห์ของชุมชน หลงวิถีชีวิตของผู้คน ที่สุขกันคนละแบบ ที่สำคัญหวังว่า เสียงตีบาตรของชุมชนบ้านบาตร จะยังส่งเสียงดังอยู่ต่อไป เพราะเสียงนี้ค่คือสัญญานที่บ่งบอกว่าชุมชนแห่งนี้ยังมีลมหายใจอยู่ “หลงรักไทย Lost In Thai Mystery”

ติดตามคลิปเต็ม หลงรักบ้านบาตร หนึ่งเดียวในโลกได้ที่ 

📌 https://fb.watch/viZyWcYtR-/?

📌https://youtu.be/ffG2MxB0L7Q?si=V7P5aCgrMndjObAF

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล