X
อย. เตือนอย่าซื้อ หมึกกล้วยแช่แข็ง ตรวจพบ!! แคดเมียมสูง

อย. เตือนอย่าซื้อ หมึกกล้วยแช่แข็ง ตรวจพบ!! แคดเมียมสูง

20 ต.ค. 2565
1290 views
ขนาดตัวอักษร

อย. ตรวจพบ ปริมาณแคดเมียมเกินมาตรฐาน ในผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกกล้วยแช่แข็ง (SEAFROZEN WHOLE ROUND ILLEX SQUID (ILLEX ARGENTINUS))



โดยวันนี้ (20 ต.ค. 2565) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้สุ่มเก็บตัวอย่างอาหาร ณ ด่านอาหาร และยาลาดกระบัง นำเข้าโดย บริษัท ดีอาร์ อินเตอร์ ฟู้ด จำกัด เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 โดยมีรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ดังนี้ “ผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกกล้วยแช่แข็ง (SEAFROZEN WHOLE ROUND ILLEX SQUID (ILLEX ARGENTINUS))” ผลิตโดย B/P CHOKYU MARU 18 (BAHIA GRANDE S.A) สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ไม่ระบุรุ่นการผลิต วันผลิต และวันหมดอายุ น้ำหนักสุทธิ 1 กิโลกรัม ผลการตรวจวิเคราะห์ทางวิชาการ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบแคดเมียม 4.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ต้องไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ซึ่งเข้าข่ายเป็น อาหารไม่บริสุทธิ์ และอาหารผิดมาตรฐาน ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จึงเป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัย ในการบริโภค ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อยู่ระหว่างพิจารณา ดำเนินการตามกฎหมาย กับผู้กระทำผิดต่อไป   



ข้อแนะนำ

ขอเตือนผู้บริโภค ให้ระมัดระวังอย่าซื้อ “ผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกกล้วยแช่แข็ง (SEAFROZEN WHOLE ROUND ILLEX SQUID (ILLEX ARGENTINUS))” ที่ฉลากระบุ รายละเอียดดังกล่าวข้างต้น มารับประทาน หากมีข้อสงสัย เรื่องความปลอดภัย ของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถาม หรือ แจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ



นอกจากนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลความรู้เรื่อง พิษภัยใกล้ตัวของแคดเมียม จากบทความ เพจเว็บไซต์ ฐานความรู้เรื่อง ความปลอดภัยด้านสารเคมี Chemical Knowledge Platform ซึ่งดูแลโดย ศูนย์ความเป็นเลิศ ด้านการจัดการสาร และของเสียอันตราย อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเผยแพร่ไว้เมื่อ (20 ก.ค. 2549) โดยผู้เขียน คือ รศ.สุชาตา ชินะจิตร คณะกรรมการ ความปลอดภัยด้านเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า



พิษภัยใกล้ตัว

ผู้ที่มีโอกาส จะได้รับพิษแคดเมียม คือ คนงานในอุตสาหกรรมชุบ หรือ เชื่อมโลหะ คนงานเคาะพ่นสีรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ ที่มีการใช้ความร้อน หรือ เปลวไฟในการเชื่อมเหล็ก ที่มีแคดเมียมผสม หรือเคลือบอยู่ การสูดไอของ โลหะแคดเมียมเข้าไประยะยาว แคดเมียมจะไปสะสมที่กระดูก ทำให้กระดูกผุ มีอาการเจ็บปวดมาก เคยมีชื่อเรียก โรคพิษของแคดเมียม เป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “อิไต-อิไต” ซึ่งแปลว่า “โอ๊ย โอ๊ย” เมื่อได้รับแคดเมียมสะสมมาก ๆ จะสังเกตเห็นวงสีเหลือง ที่โคนของซี่ฟัน ซึ่งจะขยายขึ้นไปเรื่อย ๆ จนอาจเต็มซี่ ถ้าขนาดของวงยิ่งกว้าง และสียิ่งเข้ม ก็แสดงว่า มีแคดเมียมสะสมมาก มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า แคดเมียมออกไซด์ เป็นสารก่อมะเร็งที่ไต และต่อมลูกหมาก นอกจากนั้น ยังทำอันตรายต่อไต ทำให้สูญเสียประสาทการดมกลิ่น และทำให้เลือดจาง ถ้าได้รับปริมาณมากระยะสั้น ๆ จะมีอาการจับไข้ หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดศีรษะ อาเจียน อาการนี้ จะเป็นได้นานถึง 20 ชั่วโมง แล้วตามด้วยอาการเจ็บหน้าอก ไอรุนแรง น้ำลายฟูม ดังนั้น เมื่อใดมีไอของแคดเมียม เช่น จากการเชื่อมเหล็กชุบ ควรใช้หน้ากากป้องกันไอ และฝุ่นของแคดเมียม หรือสารประกอบแคดเมียม ในขณะทำงาน

หมายเหตุ
Cadmium เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ควบคุมโดยกรมวิชาการเกษตร และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)


ข้อมูล โรคอิไต อิไต Itai-itai disease (จากเอกสาร คณะสหเวชศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก)
http://www.med.nu.ac.th/patho/humanities/Group-20-2013.pdf


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
https://www.facebook.com/FDAThai

เว็บไซต์ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
https://oryor.com

เว็บไซต์ : ฐานความรู้เรื่อง ความปลอดภัยด้านสารเคมี
http://www.chemtrack.org

เว็บไซต์ : ศูนย์ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศปอส.)
https://www.shecu.chula.ac.th

เว็บไซต์ : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
https://med.nu.ac.th



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล