X
ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อ! ฮิปโปฯ เกือบเป็นอาหารของคน

ไม่เชื่อ ก็ต้องเชื่อ! ฮิปโปฯ เกือบเป็นอาหารของคน

6 พ.ย. 2567
130 views
ขนาดตัวอักษร

6 พ.ย.67 - ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ! ฮิปโปฯ เคยเกือบได้เป็นเมนูเด็ด เป็นอาหารของคน ติดอยู่อย่างเดียว? เอ่อ…แปลกดี!


ฮิปโปโปเตมัส ที่เราเห็นอยู่ในสวนสัตว์แบบทุกวันนี้ จริงๆ แล้ว เป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่ก่อนมีจำนวนเยอะมาก แต่ปัจจุบันจำนวนลดลงไปอย่างมาก อยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่น่าเป็นห่วงเรื่องของการสูญพันธุ์มากๆ เลย สาเหตุหลักๆ ก็มาจากการทำลายป่า และอีกสาเหตุ คือการล่าเพื่อมาเป็นอาหารเนี่ยแหละ ซึ่งมีข้อมูลจากบทความเรื่อง "Savor the Exotic: What Does Hippopotamus Taste Like?" บอกไว้ว่า เนื้อของฮิปโปฯ มีลักษณะคล้ายเนื้อหมู แต่หวานและเหนียวกว่า ส่วนคอลเรสเตอรอลก็มีน้อยกว่าเนื้อวัวถึง 3 เท่า “เอ่อ..แปลกดี!”


ซึ่งก็มีอยู่ยุคสมัยหนึ่ง ที่ประเทศมหาอำนาจอย่าง “สหรัฐอเมริกา” เคยมีความคิดจะทำฟาร์มปศุสัตว์จากฮิปโปฯ เพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ ข้อมูลระบุไว้ว่า ปี 1910 สหรัฐฯ มีแนวคิดจะนำฮิปโปฯ มาเลี้ยงทำปศุสัตว์ไว้เป็นวัตถุดิบอาหารหลักแทนเนื้อวัว โดยให้นิยามว่า “เบคอนวัวทะเลสาบ” (LAKE COW BACON) ซึ่งที่มีแนวคิดแบบนี้ก็เพราะว่าในช่วงนั้น สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาขาดแคลนเนื้อสัตว์อย่างรุนแรง


สำหรับโครงการนำเข้าสัตว์จากแอฟริกา มาจากแนวคิดของ “โรเบิร์ต บรูสซาร์ด” ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากรัฐลุยเซียน สนับสนุนให้ร่างกฎหมายที่ชื่อว่า HR 23261 นั่นก็คือ “ร่างกฎหมายฮิปโป” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนนำเข้าฮิปโปฯ มาเลี้ยงที่รัฐลุยเซียนา ซึ่งขณะนั่นเอง ก็มีการเตรียมเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรให้เป็นป่าเลี้ยงสัตว์แอฟริกา เพื่อการบริโภคไว้แล้วอีกด้วย


แต่จนแล้วจนรอดร่างกฎหมายฮิปโป ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริง เพราะรัฐสภาไม่มีเวลาเพียงพอที่จะลงคะแนนเสียงในร่างกฎหมายนี้ได้ทัน ซึ่งหลังจากนั้น สหรัฐอเมริกา ได้ฟื้นฟูระบบปศุสัตว์ภายในประเทศได้ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะนำฮิปโปฯ หรือสัตว์จากแอฟริกามาทำปศุสัตว์เป็นอาหารของมนุษย์อีกต่อไป


ทั้งนี้สิ่งที่น่ากังวลมากกว่า คือสถานะภาพในปัจจุบันที่ฮิปโปฯ ในธรรมชาติ เสี่ยงสูญพันธุ์จากการสำรวจพบว่ามีฮิปโปฯ ในธรรมชาติประมาณ 130,000 ตัว ส่วนฮิปโปแคระในธรรมชาติ เหลืออยู่เพียง 3,000-5000 ตัวเท่านั้น


อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์ ฮิปโปฯ หรือสัตว์ป่าหายาก คือการดูแลภายในสวนสัตว์ ซึ่งสวนสัตว์ที่ได้มาตรฐานจะมีการวิจัยด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายาก สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เพื่อวันหนึ่งจะสามารถพบหนทางในการขยายเผ่าพันธุ์ และฟื้นฟูประชากรสัตว์แต่ละชนิดให้กลับมามีจำนวนที่เหมาะสมในธรรมชาติ รวมทั้งอีกด้านคือการศึกษาวิจัยเรียนรู้พฤติกรรมสัตว์ ได้เข้าใจระบบนิเวศ ระบบชีวิตของสัตว์ เพื่อดูแลสัตว์ป่าในธรรมชาติให้ได้มากขึ้นนั้นเอง อีกสิ่งที่สำคัญคือสร้างความผูกพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์ ที่จะทำให้ชีวิตของสัตว์เหล่านี้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2024 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)