X

"ปอย ตรีชฎา-โอ๊ค บรรลุ"เข้าพิธีวิวาห์ตามแบบประเพณีบาบ๋า ย่าหยา

1 มี.ค. 2566
1160 views
ขนาดตัวอักษร

สวยสุดปังและอลังแบบสุดๆกลายเป็นสะใภ้ภูเก็ตแบบเต็มตัวสำหรับปอย ตรีชฎา ที่เข้าวิวาห์แบบบาบ๋า หรือ วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต และที่ควรซูมเข้าไปดูใกล้ๆคือการแต่งงานแบบประเพณีภูเก็ตซึ่งงานนี้เจ้าสาวได้แต่งตัวในชุดเจ้าสาวแสนสวยพร้อมเครื่องประดับ


ความงดงามของเจ้าสาวในชุดแต่งงานแบบบาบ๋า

สำหรับหนึ่งในประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ก็คือ “ประเพณีการแต่งงานของบาบ๋า” หรือ “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” ซึ่งเป็นประเพณีการออกเรือนของบ่าวสาวแบบโบราณ ที่ชาวบาบ๋า จ. ภูเก็ต ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมนี้ไว้ และร่วมกันสืบทอดอนุรักษ์ไว้ไม่ให้หายไปจากรุ่นสู่รุ่น

เสน่ห์ของการแต่งงานของชาวบาบ๋า จุดเด่นที่สำคัญมากๆ เลย ก็คือ ความสวยงาม ความอลังการ และจุดเด่นที่ตามมาอีกเรื่องก็คือ ความกตัญญู ความกลมเกลียวในครอบครัว และถือว่าเป็นความขลังของการแต่งงานที่ชาวบาบ๋าได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้



การจัดงานแต่งงานของชาวบาบ๋า จะมีพิธีรีตองที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก คือมีการหาฤกษ์ยาม จัดเตรียมชุดแต่งงาน เครื่องประดับกาย ซึ่งสิ่งสำคัญจะเน้นไปที่ตัวเจ้าสาวผู้งดงาม คือ เจ้าสาวจะมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ คือเจ้าสาวจะสวมชุดครุย คือเสื้อนอกซึ่งเป็นผ้าบาง ๆ ผ้าป่านหรือผ้าป่านชนิดมีลายดอก ใส่เสื้อคอตั้งแขนจีบ มีกระดุมห้าเม็ดติดคอไว้ข้างใน สวมผ้าถุง เป็นวัฒนธรรมยืมมาจากทางปีนัง สิงคโปร์ แต่มาประยุกต์ปรับปรุงให้เข้ากับวัฒนธรรมภูเก็ต และก็จะมีเครื่องประดับที่อยู่บนเสื้อครุยเรียกว่า โกสังข์ ทางมาเลย์จะเรียก mother and child หรือแม่กับลูก หน้าตาคล้ายหัวใจคือตัวแม่ แล้วจะมีตัวกลมๆ อีกสองตัวเรียกว่าตัวลูก หนึ่งชุดก็จะมีสามตัว ส่วนเครื่องประดับอื่น ๆ ก็จะมีสร้อยแผงหรือสร้อยสังวาล กำไลข้อมือข้อเท้า แล้วก็แหวน


ส่วนทรงผมของเจ้าสาวเรียกว่า เกล้ามวยชักอีโบย ข้างหน้าจะเรียบตึง ข้างๆ จะโป่งออกเรียกว่า อีเปง บางครั้งก็เรียก แก้มปลาช่อน แล้วข้างหลังก็โป่งออกเรียกว่า อีโบย และเจ้าสาวจะสวมมงกุฎครอบมวยผม เป็นดิ้นเงินรูปหงส์ มีดิ้นเงินรูปดอกไม้และผีเสื้อรายล้อม เหนือมงกุฎทอง ชาวบาบ๋าถือว่าเป็นสัตว์มงคลและเป็นใหญ่ที่สุดในหมู่สัตว์ปีก เวลาเดินจะขยับตุ้งติ้งจึงนิยมเรียกว่า ดอกไม้ไหว เหน็บด้วยเข็มกลัดหรือปิ่นปักผมรอบศีรษะ


ด้านเจ้าบ่าวจะแต่งกายสวมเสื้อนอกแบบยุโรป เพราะคนภูเก็ตค่อนข้างจะมีวิถีไปทางยุโรป เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะมาตั้งถิ่นฐานค้าขายจนร่ำรวย ส่วนใหญ่จะอพยพมาจากปีนัง สิงคโปร์ และที่เสื้อเจ้าบ่าวก็จะมีแค่เข็มกลัดที่ติดพู่สีชมพูตกแต่งเพื่อความสวยงาม



บ่าวสาวทำพิธีไหว้เทวดา


สำหรับการจัดงานวิวาห์บาบ๋า ได้ยึดถือแบบแผนประเพณีแบบโบราณไว้เป็นอย่างดี มีการสืบค้นหาข้อมูลเก่าๆ ว่าประเพณีโบราณมีอะไรบ้าง ก็ดำรงรักษาไว้และปฏิบัติตามไว้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของไหว้ ขนมที่ใช้ในพิธีแต่งงานก็มีหลายอย่างที่ล้วนแล้วแต่สื่อความหมายที่ดีงาม อาทิ ขนมกันแม (กาละแม) ที่มีความหมายว่าขอให้ความรักของคู่บ่าวสาว หวานชื่น ยินยาว เหนียวแน่น มีความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งในเดียวกัน ขนมข้าวเหนียวหีบ (ข้าวเหนียวอัด) มีความหมายว่าให้คู่บ่าวสาวมีความรักที่มั่นคง เหนียวแน่น ขนมชั้น มีความหมายว่า ให้คู่บ่าวสาวครงรักกันด้วยความสุขหวานชื่น มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงขึ้นไปเรื่อยๆ และขนมมงคลอื่นๆ อีกหลายอย่าง


บ่าวสาวบาบ๋าทำพิธีผ่างเต๋


จากนั้นอึ่มหลางจะนำคู่บ่าวสาวมาไหว้เทวดาที่หน้าบ้าน บางบ้านมีการตั้งโต๊ะไหว้ บางบ้านไม่จัดโต๊ะก็จะใช้พื้นที่ลานหน้าบ้าน จะมีการจุดธูปใหญ่สามดอกให้ทั้งคู่ ไหว้ 12 ครั้ง(เรียกว่า “จับหยี่ป๋าย”) พร้อมแตรจีนเป่าบรรเลง เพื่อแสดงความกตัญญูต่อองค์เง็กเซียนฮ่องเต้และเทวดาทั้งมวลที่คุ้มครองดูแลตนจนเติบใหญ่มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐานได้


แล้วก็มาถึงพิธีการที่สำคัญ คือ พิธีผ่างเต๋เป็นการไหว้คารวะผู้ใหญ่ด้วยน้ำชามงคล ตระเตรียมเก้าอี้อย่างดีเป็นคู่ ตรงจุดสำคัญในบ้าน ผู้ใหญ่ชายนั่งทางซ้าย ผู้ใหญ่ที่เป็นสตรีนั่งทางขวา มีการประกาศเชิญผู้อาวุโสสูงสุดตามลำดับ ผู้ใหญ่จะรับน้ำชาจากคู่บ่าวสาว จิบน้ำชาแล้วมอบอั่งเปาให้แก่ทั้งคู่ และก็ยังมีพิธีไหว้พระที่ศาลเจ้า ซึ่งเป็นธรรมเนียมของคนบาบ๋าภูเก็ตที่มักเดินทางไปไหว้ขอพรต่อองค์พระสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามศาลเจ้า(อ๊าม)ใกล้บ้าน หรือที่มีชื่อเสียง เช่น เจ้าแม่กวนอิม อ๊ามปุดจ้อ (มีความเชื่อว่าจะทำให้มีบุตรหลานได้ง่าย) เป็นต้น หรือ บางครอบครัวจะเดินทางไปกราบไหว้หลวงพ่อแช่ม ซึ่งเป็นพระคู่บ้านเมืองภูเก็ต ณ วัดฉลอง(ไชยธาราราม)


เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่งดงามและควรค่าแก่การรักษาไว้ เป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่สวยงามขอแสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาวบาบ๋าและขอให้รักกันในทุกๆวัน 


Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล