X
8 ประเทศอาเซียน หาทางออก ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

8 ประเทศอาเซียน หาทางออก ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

12 ก.ย. 2567
3290 views
ขนาดตัวอักษร

12 ก.ย.67 - นักวิจัยสุขภาพ 8 ประเทศอาเซียน-แคนาดา ตั้งวงถกปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถูกอุตสาหกรรมน้ำเมารุกคืบ ค้านให้นักธุรกิจสุรานั่งบอร์ดควบคุมแอลกอฮอล์


นักวิจัยด้านสุขภาพและการแพทย์จาก 8 ประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแคนาดา ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการวิเคราะห์นโยบายแอลกอฮอล์ในภูมิภาคอาเซียน ที่กรุงเทพมหานคร เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งมีการพูดคุยในหัวข้อ "อิทธิพลของผลประโยชน์ทางการค้าในการพัฒนานโยบายแอลกอฮอล์ในกลุ่มประเทศอาเซียน" โดยมีประชาชนและสื่อมวลชนเข้าร่วม


ศ. ดร. เจอร์เกน เรห์ม นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากศูนย์การเสพติดและสุขภาพจิต (CAMH) ประเทศแคนาดา กล่าวว่า จากการทบทวนวรรณกรรมที่ศึกษาเปรียบเทียบร่างเอกสารนโยบายแอลกอฮอล์แห่งชาติ 4 ฉบับ จากประเทศ เลโซโท มาลาวี ยูกันดา และบอตสวานา ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรม พบว่า ทั้ง 4 ฉบับมีถ้อยคำและโครงสร้างที่เกือบจะเหมือนกัน และมีแนวโน้มว่าจะมีที่มาจากแหล่งเดียวกัน โดยร่างนโยบายเน้นย้ำให้ผู้ดื่มต้องรับผิดชอบทั้งหมด แต่ไม่เน้นที่สภาพแวดล้อมของผู้ดื่ม มีการเชื่อมโยงกับผลกำไรสำหรับอุตสาหกรรม และมีการแนะนำนโยบายที่มีข้อจำกัดน้อย เช่น การควบคุมตนเอง (ด้านการตลาด) และการกำหนดภาษีขั้นต่ำ ดังนั้น ทั้ง 4 ฉบับ เป็นร่างนโยบายที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาความล้มเหลวของกระบวนการ 10 ปีของประเทศยูกันดา โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับมอบหมายให้กำหนดนโยบาย กระทรวงการค้ารับผิดชอบการพัฒนาร่างกฎหมาย โดยให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นนายหน้าเพื่อกำหนดผลลัพธ์ สุดท้ายร่างกฎหมายได้ถูกยกเลิกไป ดังนั้น อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องในคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการตัดสินใจของรัฐบาลที่เกี่ยวกับนโยบายการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างชัดเจน


ดร. ฮว่าง ถิ หมี ฮั่นห์ สถาบันกลยุทธ์และนโยบายด้านสุขภาพ (HSPI) กระทรวงสาธารณสุข ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า เมื่อปี 2558 ไฮเนเก้นได้เปิดตัวไซเดอร์ น้ำแอปเปิ้ลหมัก มีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 5% ที่เวียดนาม จะเห็นว่า ชื่อผลิตภัณฑ์ไม่มีคำว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย แต่อาศัยกลยุทธ์การโฆษณา เช่น อิทธิพลจากเพื่อน บรรทัดฐานทางสังคม สื่อ ผู้มีชื่อเสียงและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น การใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงประสบการณ์ เช่น การเข้าร่วมในเทศกาลดนตรี งานแสดงแฟชั่น รวมถึงแคมเปญโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพื่อช่วยเพิ่มความน่าสนใจ เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นเวียดนาม ส่งผลต่อทัศนคติการบริโภคแอลกอฮอล์ให้เป็นเรื่องปกติ สร้างความภักดีต่อแบรนด์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในบรรทัดฐานทางสังคม นำไปสู่การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นในหมู่วัยรุ่น ด้วยกฎเกณฑ์การโฆษณาและการตลาดที่อ่อนแอ ซึ่งจากข้อมูลปี 2019 การดื่มหนักในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี 22.4% อยู่ในอันดับ 4 ของกลุ่มประเทศอาเซียน


ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายใดควรให้ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วม ในการออกมาตรการและการกำหนดนโยบายสาธารณะ แต่ไม่ใช่ให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามาเป็นกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการควบคุมต่างๆ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ หากให้เข้ามาจะส่งผลกระทบต่อการออกมาตรการควบคุมหรือการบังคับใช้กฎหมาย และอาจกลายเป็นการคุ้มครองประโยชน์ธุรกิจเสียเอง เกิดการกีดกันผู้ค้ารายอื่นที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในกรรมการฯ ซึ่งกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม ทั้งอาวุธปืน สารเคมี ต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องส่วนนี้มาร่วมเป็นกรรมการ

เพราะฉะนั้นกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจน สอดคล้องกับภารกิจของคณะกรรมการควบคุม และนี่อาจเป็นการส่งสัญญาณจากทิศทางของรัฐบาล ทิศทางนโยบายของรัฐบาลต่อภาพรวมของทิศทางในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจจะมาผิดทิศผิดทาง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายขยายเวลาในการเปิดสถานบริการจนถึงตี 4 นโยบายในการให้ผู้ประกอบการเข้ามานั่งในคณะกรรมการควบคุม, การที่พยายามยกเลิกหรือลดมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมก็ดี ซึ่งเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป แต่เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง เพราะฉะนั้นทิศทางในการควบคุมเหล่านี้ควรใช้มาตรการตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) และต้องควบคุมไปถึงการโฆษณา การขายผ่านออนไลน์ด้วย ทั้งแอลกอฮอล์และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งกระทบกับเยาวชน แต่จะเห็นได้ว่ารัฐเองไม่ค่อยเดือดร้อนในเรื่องเหล่านี้ แต่เมื่อเป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ซึ่งปีหนึ่งมีกำไรประมาณ 6 แสนล้าน กลับเดือนร้อนมาก ขยายโอกาสในการขาย แต่กับเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ กลับไม่รู้ร้อนรู้หนาว

“ผมคิดว่าบทบาทของรัฐบาลจริงๆ แล้ว ควรจะดุลยภาพระหว่างทุนกับประชาสังคม ซึ่งอำนาจทางสังคมมีอยู่ 3 อำนาจ คือ อำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจประชาสังคม โดยทั่วไปแล้วรัฐนั้นจะต้องเป็นคนกลางในการที่จะรักษาดุลยภาพระหว่างอํานาจทุนกับประชาสังคม แต่เมื่อใดก็ตามที่รัฐเข้าข้างอำนาจทุน ก็จะพังหมดทั้งสังคม รัฐต้องแก้ไขให้ตรงจุด โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขอให้รัฐบาลทำหน้าที่เป็นคนกลางที่จะดุลยภาพคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เอื้อกลุ่มทุนจนลืมที่จะดูแลเด็กและเยาวชนของชาติ หรือลืมที่จะดูแลคนที่อ่อนด้อยกว่าทางสังคม”

ในช่วงท้ายของการสัมมนา ผู้เข้าร่วมการสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่างๆ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมจากทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน และได้ข้อสรุปว่า แอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าธรรมดา ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบ จึงต้องพิจารณาประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มยอดขายและกำไรควบคู่ไปกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสังคม โดยเฉพาะสุขภาพของประชาชนและงานด้านอื่นๆ ของภาครัฐ ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ในชั้นกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

1. อุตสาหกรรมแอลกอฮอล์ไม่ควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ ในภาครัฐ ว่าด้วยนโยบายควบคุมแอลกอฮอล์ 2. การมีปฏิสัมพันธ์กับธุรกิจแอลกอฮอล์ในขั้นตอนการร่างนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรจำกัดอยู่เฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามความจำเป็น 3. ควรพิจารณาข้อเสนอแนะนี้ ในการร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอื่นๆ ที่มีผลกระทบเชิงลบ

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล