X
เมื่อ “ขยะ” จะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป ชุมชนเปลี่ยนไป เที่ยวดี สร้างรายได้ มีอาชีพ

เมื่อ “ขยะ” จะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป ชุมชนเปลี่ยนไป เที่ยวดี สร้างรายได้ มีอาชีพ

12 ก.ย. 2567
1120 views
ขนาดตัวอักษร

12 ก.ย.67 - ไขความลับ เครือข่าย ทสม. ตำบลวังหว้า จังหวัดระยองต้นแบบจัดการขยะชุมชน ทำได้จริง “ขยะ” จะไม่ใช่ขยะอีกต่อไป ชุมชนเปลี่ยนไป เที่ยวดี สร้างรายได้ มีอาชีพ


“ขยะ” ปัญหาสำคัญของชุมชนไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ยิ่งขยะมาก จัดการไม่ได้ ผลที่ตามมาคือสิ่งแวดล้อมของชุมชนไม่น่าอยู่ ไม่น่ามอง ยิ่งหากเป็นเมืองท่องเที่ยว แน่นอนว่าจะส่งผลต่อการท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวเลือกปัดออกจากเส้นทางท่องเที่ยวแน่นอน กลายเป็นปัญหาเศรษฐกิจชุมชนที่ได้รับผมกระทบไปเต็มๆ 


แต่หากผู้คนในชุมชนร่วมกันหาทางออกได้ ย่อมเกิดสิ่งดีๆ และด้านบวกขึ้นมาก็เป็นได้ อย่างเช่น “ชุมชนวังหว้า” ในเทศบาลตำบลเมืองแกลง ที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ลงมาติดตามความก้าวหน้า โดยปกติชุมชนจะมีขยะรวมทุกประเภทกว่า 22,000 กิโลกรัมต่อเดือน ถือว่าเป็นปริมาณขยะที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้อยู่อาศัยและมลภาวะในชุมชนอย่างมาก 


แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้ โดยชุมชนสามารถจัดการปัญหาได้เต็มรูปแบบกลายเป็น “ชุมชนต้นแบบด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม” ที่คนในชุมชนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายภาคประชาชนอย่างเครือข่าย อาสาสมัครพิทักษ์ทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ “เครือข่าย ทสม.” และรับรางวัลเครือข่าย ทสม. ดีเด่น ระดับภาค ปี 2562 ด้านการจัดการขยะมูลฝอย และนอกจากนี้ยังมีรางวัลมีมากมาย


สำหรับจุดเริ่มต้นของการบริหารจัดการขยะในชุมชน เกิดขึ้นจากที่ในชุมชนมีปริมาณขยะต่อเดือนจำนวนมาก การเคหะแห่งชาติได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาของขุมชน โดยจัดกิจกรรมเรื่องการจัดการขยะให้กับผู้นำชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดและให้ความรู้ทั้งกระบวนการ รวมถึงการจัดทำโครงการธนาคารขยะภายในชุมชนระยองวังหว้าแห่งนี้ ซึ่ง “ชุมชนวังหว้า” เป็นชุมชนเดียวของการเคหะแห่งชาติที่ “ไม่มีถังขยะ” ตั้งอยู่หน้าบ้าน เพราะได้จัดการปัญหาขยะอย่างเต็มรูปแบบ โดยทุกครัวเรือนจะผ่านการฝึกอบรมเรื่องขยะมาเป็นอย่างดี


การจัดการขยะของหมู่บ้านเอื้ออาทรระยองวังหว้า เป็นแบบอย่างด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีความสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ ดำเนินการโดยผู้นำชุมชนร่วมกับชาวบ้าน ร้านค้า และโรงเรียนในชุมชน โดยการจัดการขยะเริ่มตั้งแต่การตกลงไม่ใช้กล่องโฟมภายในชุมชน มีการกำหนดให้ชุมชนแยกขยะเป็น 4 ประเภท คือ 

1. ขยะทั่วไปที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ และไม่เป็นพิษ

2. ขยะรีไซเคิล

3. ขยะอันตราย

4. ขยะอินทรีย์ 


ในส่วนของขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก แก้ว ถุง ชาวบ้านในชุมชนจะรวบรวมและนำไปขายโดยคำนวณเป็นมูลค่า และตอบแทนเป็นสินค้าอุปโภค บริโภคในราคาต้นทุนให้แก่ชาวบ้าน จากนั้นจะนำขยะที่รับซื้อจากชาวบ้านไปขายต่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป


การจัดการขยะในชุมชนที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะแล้ว ยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายขยะ เกิดการจ้างงานคนพิการ ผู้สูงอายุ ในการคัดแยกและจัดการขยะให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมก่อนส่งให้โรงงาน 


ชุมชนยังได้นำขยะจากขวดพลาสติกไปหลอม “ผลิตเป็นเส้นหวายเทียม และนำไปผลิตสินค้าหัตถกรรม” เช่น กระเป๋า ตระกร้าสาน เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน  นอกจากนี้ ขยะบางส่วนยังนำไปหลอมและผสมกับวัสดุประเภทปูน ทราย เพื่อทำอิฐบล็อคอีกด้วย 


ส่วนขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร นำไปเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ทำน้ำหมักชีวภาพให้ชุมชนใช้ฟรี และทำปุ๋ยอินทรีย์ และนำไปใช้ทั้งภายในชุมชน และนำไปขายเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย จนทำให้ชุมชนได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบระดับประเทศด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2563


อีกทั้งยังร่วมกันขับเคลื่อนธนาคารขยะ และจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก เช่น กิจกรรมแลกของราคาทุน, เงินช่วยเหลือเงินพร้อมพวงหรีด กรณีสมาชิกในครอบครัวของสมาชิกธนาคารขยะเสียชีวิต และเงินช่วยเหลือค่าเดินทางไปโรงพยาบาล

“โครงการระยอง (วังหว้า)” ถูกยกย่องให้เป็น “ชุมชนต้นแบบ” ที่นำขยะมาใช้ประโยชน์ได้อย่างครบวงจร นำไปสู่การจัดการขยะแบบยั่งยืน และสร้างสวัสดิการมากมายให้คนในชุมชนในการแปลงขยะไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกคนในชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะยาว


กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ยังได้พามาดูอีกตัวอย่างของความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อม ที่ เทศบาลเมืองมาบตาพุด จังหวัดระยอง หนึ่งในเมืองที่มีพื้นที่อุตสาหกรรม แต่ก็มีหัวใจอยากจัดการสิ่งแวดล้อม พัฒนาป้องกัน อนุรักษ์ ฟื้นฟูและควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ได้รับ “รางวัลเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับเงิน” ปี 2566 และอีกหลายรางวัล


เทศบาลเมืองมาบตาพุด ใข้วิธีจัดการสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่ส่งเสริมการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง ผ่านโครงการธนาคารขยะ การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมัก การแยกขยะอันตราย มีระบบการเก็บขนให้ตรงเวลาและการรักษาความสะอาด รวมถึงส่งผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าและการกำจัดตามหลักสุขาภิบาล การมีแผนและมาตรการป้องกันฝุ่น PM 2.5 อีกทั้งยังมีศูนย์บริการสาธารณสุขที่เป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลเมืองมาบตาพุดและภาคอุตสาหกรรม 7 แห่ง ไว้สำหรับดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ


กิจกรรมธนาคารขยะประกันชีวิต เทศบาลเมืองมาบตาพุด โดยให้บุคลากรในสำนักงานและประชาชนในพื้นที่จัดการและคัดแยกขยะรีไซเคิลอย่างถูกต้อง ซึ่งเทศบาลจะมีรอบในการเปิดธนาคารขยะฯ ให้สมาชิกได้นำขยะรีไซเคิลมาขายทุกวันอังคารและวันพุธสุดท้ายของเดือนนั้น ๆ และใช้แอปพลิเคชันคุ้มค่าในการบันทึกข้อมูลปริมาณน้ำหนักขยะ พบว่า ขยะรีไซเคิลส่วนใหญ่ คือ ชนิดกระดาษ ซึ่งในปี 2566 ช่วงเวลาที่ขอการรับรองการประเมินการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) รวบรวมขยะรีไซเคิลได้ 20,996 กิโลกรัม สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 52,710 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


นอกจากนี้มีการประกาศใช้เทศบัญญัติเทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย มีโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียของเทศบาลเมืองมาบตาพุด ขนาดพื้นที่ 30 ไร่ พร้อมห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำของเทศบาลเมืองมาบตาพุด เพื่อตรวจวัดกว่า 80 จุด อีกทั้งการตรวจสอบคุณภาพหรือสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนอื่น และการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่ มีรถและสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ  รวมถึงการแจ้งเตือนผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศของเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชันไลน์ 


พร้อมกับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสร้างเศรฐกิจชุมชนในพื้นที่เมืองอุตสาหกรรม ด้วยหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เข้าใจภูมิสังคม สภาพแวดล้อม รวมถึงความเชื่อ ภูมิปัญญา ความต้องการของคนในพื้นที่ แก้ไขสิ่งที่ต้องการอย่างตรงจุดและพัฒนาอย่างถูกต้องและมีส่วนร่วม สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดในพื้นที่ชุมชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาความต้องการของพื้นที่ และยังมีการทำธนาคารน้ำใต้ดินร่วมกับภาคีเครือข่าย เหล่านี้เป็นการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างมีส่วนร่วม


อย่างเช่น การเกษตร การยอมรับและการตลาด ยกระดับการเกษตร “มะม่วงพื้นทราย@มาบตาพุด” ดั้งเดิมที่มีรสชาติหวาน เนื้อละเอียด เปลือกบาง จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ เป็นความภาคภูมิใจ เกิดความหวงแหนรักและภาคภูมิใจในวิถีชุมชนพร้อมที่จะรักษาต่อยอดจากบรรพบุรุษ มีวิถีที่ทรงคุณค่า รสชาติที่สัมผัสได้ สร้างมูลค่าของสินค้าเกษตรดั้งเดิมของชุมชน ยกระดับสินค้าชุมชน สร้างรายได้และช่องทางเศรฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล