X
พระราชปณิธานสู่การพัฒนาการศึกษาชาติ จากจุดเริ่มต้น สู่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

พระราชปณิธานสู่การพัฒนาการศึกษาชาติ จากจุดเริ่มต้น สู่ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย

23 ต.ค. 2567
140 views
ขนาดตัวอักษร

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนจากระบบจตุสดมภ์เป็นการตั้งกระทรวง ทบวง กรม แต่การพัฒนาดังกล่าวจะสำเร็จไม่ได้ หากกำลังคนยังไม่มีความพร้อม 


พระองค์จึงทรงเริ่มปฏิรูปการศึกษา (Educational Reform) อันเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ เพื่อผลิตกำลังคนที่มีความรู้ความสามารถแบบตะวันตกเข้ารับราชการในระบบราชการแบบใหม่ แทนที่ข้าราชการรุ่นเก่าที่มีพื้นฐานความรู้แบบโบราณ การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ จึงเป็นเฟืองจักรสำคัญในกระบวนการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน


หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ พุทธศักราช 2411 ขณะมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ยุวกษัตริย์พระองค์นี้ทรงตระหนักชัดว่าสยามจำเป็นต้องมีการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ด้วยกระแสความรู้ทางตะวันตกที่เข้ามาอย่าง ต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังสนธิสัญญาเบาวริ่ง ที่ทำให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำการค้า รับราชการและเผยแผ่ศาสนา พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินประพาสเมืองสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในความปกครองของประเทศอังกฤษและเมืองเบตาเวีย ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในความปกครองของฮอลันดา 


เมื่อพุทธศักราช 2414 ได้ทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน โรงทหาร ศาล พิพิธภัณฑ์ และอื่น ๆการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรในครั้งนั้น นับเป็นการจุดประกายให้พระองค์ตั้งพระราชปณิธานริเริ่ม จัดการพัฒนาปรับปรุงการจัดการบ้านเมืองต่าง ๆ ในเวลาต่อมาอย่างเป็นลำดับการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุดและเป็นโครงสร้างจำเป็นพื้นฐาน (Backbone) สำหรับการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน พระองค์ดำเนินการอย่างมีหลักการและเหตุผลที่เหมาะสมกับความพร้อมของราษฎรและประเทศ 


ตั้งแต่พุทธศักราช 2413 จนถึง พุทธศักราช 2440 ทรงทดลอง แก้ไข และปรับปรุงเป็นลำดับ จากการทดลองจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตกจนกระทั่งขยายการจัดการระบบโรงเรียนไปทั่วพระราชอาณาจักร การปฏิรูปการศึกษาไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประพาสต่างประเทศในช่วงต้น รัชกาลนั้น นับเป็นการจุดประกายให้พระองค์ทรงริเริ่มจัดการพัฒนาปรับปรุงการจัดการบ้านเมืองต่าง ๆ ในเวลาต่อมาอย่างเป็นลำดับโดยเฉพาะประกาศเรื่องโรงเรียนที่ทรงเริ่มต้นทดลองจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก

(Educational Sandbox) คือ โรงเรียนสอนวิชาความรู้ด้วยภาษาไทย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2414 ต่อมาได้เจริญขึ้นเป็นโรงเรียนแบบใหม่ที่มั่นคงคือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ 


หลังจากนั้นจึงทรงขยายการจัดตั้งโรงเรียนแบบใหม่ (Public Schools) ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศเพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2428  การปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สุดและเป็นโครงสร้างจำเป็น พื้นฐาน (Backbone) สำหรับการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ทรงมีพระราชปรารภว่า ระบบราชการแบบใหม่ จำเป็นต้องใช้ข้าราชการที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่ที่มีพื้นฐานความรู้แบบตะวันตกด้วย ระบบราชการแบบใหม่จึงจะสามารถดำเนินการไปได้อย่างราบรื่น


การปฏิรูปการศึกษาไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แบ่งเป็น ๔ ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1  ริเริ่ม พ.ศ. 2411 - 2413 ก่อนการจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก


ระยะที่ 2 ทดลอง พ.ศ. 2414 - 2428 ทดลองจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก


ระยะที่ 3 ปฏิรูป พ.ศ. 2429 - 2430  ปฏิรูปโรงเรียนทั่วประเทศ


ระยะที่ 4 ปรับปรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2430 เป็นต้นไป การตั้งกรมศึกษาธิการและจัดการศึกษาในระดับสูง


การจัดตั้งโรงเรียนแบบตะวันตก พ.ศ. 2414 - 2428 ในระยะนี้ เป็นการทดลองจัดตั้งโรงเรียนแบบใหม่ตามแบบตะวันตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2414 เป็นส่วนราชการแผนกหนึ่งในกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โรงเรียนแบบใหม่มีรูปแบบการจัดการศึกษาแบบตะวันตก ทั้งหมด คือมีหลักสูตรการเรียนของแต่ละชั้นปี มีตารางเรียน มีแบบเรียน มีการสอบไล่การรับรองผลการสอบ และผู้ที่สอบผ่านครบถ้วนตามหลักสูตร จะได้รับใบประกาศนียบัตรการศึกษารับรองว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถตามหลักสูตร สามารถนำไปใช้ในการสมัครเข้ารับราชการแบบใหม่ที่ทรงเริ่มจัดตั้งขึ้น


24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2414 ขุนสารประเสริฐ (น้อย อาจารยางกูร) ปลัดทูลฉลองกรมพระอาลักษณ์ คิดแบบเรียนหนังสือไทยในอัตราเก่าทูลเกล้า ฯ ถวาย ประกอบด้วย

มูลบทบรรพกิจ


วาหะนิติ์นิกร


อักษรประโยค


สังโยคพิธาน


ไวพจน์พิจารณ์


พิศาลการันต์


พ.ศ. 2429 เปลี่ยนแบบวิธีสอนอย่างใหม่ กอมมิตตีจัดการโรงเรียน กราบบังคมทูลถวายรายงานจัดการโรงเรียนฉบับที่ 4 มีการแก้ไขวิธีการสอนหนังสือไทยอย่างใหม่ขึ้น

"..การที่ได้รับพระราชทานจัดขึ้นในระหว่าง ตา เดือนนี้ ที่เป็นสิ่งสำคัญคือ ได้แก้ไข วิธีสอนหนังสือไทยอย่างหนึ่ง ด้วยการสอนวิชาหนังสือไทยในโรงเรียนน้อยใหญ่แต่ก่อนอาจาริย์ได้สอนกันยังไม่ใคร่จะเรียบร้อย ศิศย์ไม่ค่อยจะมีความรู้กว้างขวางเพราะวิชาที่สอนมีแต่วิชาหนังสืออย่างเดียว แลยังไม่ค่อยเรียบร้อยด้วยเหตุอื่นอีกหลายอย่าง ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้คิดแก้ไขเปลี่ยนแปลงวิธีสอนเป็นแบบอย่างใหม่ขึ้น..."การเปลี่ยนแปลง ได้แก่

  •   ฝึกสอนให้นักเรียนมีความรู้ในวิชาต่างๆ มีเลข และวิชาแต่งหนังสือ เป็นต้นให้กว้างขวาง
  •   สั่งสอนศาสนาแลธรรมให้มีความรู้ในการประพฤติความดีแลรักษาความเรียบร้อย
    ตั้งธรรมเนียมด้วยแบ่งเวลาแลวิชาฝึกสอนให้นักเรียนมีความอุตสาหะ

พากเพียรไม่เบื่อหน่ายในการเล่าเรียน

- แบ่งชั้นปันกำหนดนักเรียนตามความรู้ที่ยิ่งแลหย่อนเพื่อจะให้นักเรียนที่มีปัญญาโฉดเขลา ได้มีความรู้พอคล้อยกับนักเรียนทั้งปวงได้


การปรับปรุงระบบการศึกษา Reorganization

หลังจาก พ.ศ. 2430 (ตั้งกรมศึกษาธิการ) มีการจัดตั้งกรมศึกษาธิการ เป็นการจัดระบบการศึกษาแบบใหม่ที่เริ่ม มีความมั่นคง (New Education System Reorganization) มีการปรับปรุงเรื่อยมา จนโปรดเกล้าฯให้ยกขึ้นเป็นกระทรวงหนึ่ง เพื่อรับผิดชอบจัดการศึกษาให้กับราษฎรในพระราชอาณาจักร ในช่วงนี้ มีแนวคิดของการจัดการศึกษาในระดับสูง มีการส่งขุนวรการโกศลไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เริ่มมีการสอบชิงทุนเพื่อไปศึกษาต่อ แต่พบว่าการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาของ นักเรียนไทยในต่างประเทศมีปัญหา เนื่องจากพบว่าภูมิความรู้ของนักเรียนไม่พอ ทำให้หลายคนไม่สามารถศึกษาสำเร็จ บ้างก็ต้องใช้เวลานานกว่าที่กำหนด ทำให้รัฐต้องเสียงงบประมาณสูงกว่า ที่ตั้งไว้ จึงมีแนวคิดการตั้งโรงเรียนในระดับสูงที่สอนนักเรียนให้มีความรู้สำหรับเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้ รวมทั้งการผลิตคนเข้ารับราชการในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ที่เพิ่งจัดตั้ง


ต่อมา 8 เมษายน พ.ศ. 2430 พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร มีหนังสือกราบบังคมทูลขอ แยกงานของ "กรมโรงเรียน" ออกจากราชการกรมทหารมหาดเล็ก เพื่อจัด ตั้งเป็น "กรมศึกษาธิการ"


...การโรงเรียนทั้งปวง แต่แรกเมื่อทรงพระราชดำริห์ให้ข้าพระพุทธเจ้าจัดการขึ้นนั้น ต้องจัดการอาไศรยอยู่กับกรมทหารมหาดเล็กแทบทุกอย่าง ...... บัดนี้ การเล่าเรียนก็เป็นแพนกหนึ่งต่างหากจากราชการอื่นๆ ทุกอย่างแล้วเว้นแต่บางอย่าง คือ ตำแหน่งขุนนางที่รับราชการอยู่ในออฟฟิศที่จัดการเล่าเรียน ยังต้องฝากลังกัดอยู่ในกรมมหาดเล็ก (คือ ขุนวรการโกศล เป็นต้นนั้น) บ้าง ต้องฝากไว้ในกรมอาลักษณ์ (คือ ขุนวิทยานุกลกระวี เป็นต้นนั้น) บ้าง แลที่ยังลอยๆ ไม่มีลังกัดกรม (คือ เปรียญแลอาจาริย์ทั้งหลาย) ก็มีมาก แลเป็นคนยืมมาแต่ทหารมหาดเล็กยังไม่ขาดจากกรม (คือ หลวงสุรยุทธโยธาหาญ แลหม่อมเจ้าอัทยาเป็นต้น)


นอกจากการศึกษาทางโลกแล้ว ในทางพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2431 ตั้ง'มหาธาตุวิทยาลัย" ปฏิรูปการศึกษาของพระสงฆ์ " พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ มีหนังสือ ที่ 118 กราบบังคมทูล เรื่อง โรงเรียนพระปริยัติธรรม เดิมได้จัดการเล่าเรียนให้แก่พระภิกษุสามเณรในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีความขัดข้องต่างๆ และเห็นว่า


...ควรจัดที่วัดมหาธาตุเป็นดีกว่าที่อื่น เพราะเป็นวัดอยู่ใกล้พระราชวัง ศาลาแลบริเวณรกร้างอยู่เปล่า ถ้าจัดเป็นวิทยาไลยขึ้น ก็จะหมดจดงดงามเป็นที่ ใครไปมาควร ดูควรชมได้....


พ.ศ. 2445 มีการร่างแผนการศึกษา รัตนโกสินทร์ศก 121  กระทรวงธรรมการ เสนอร่างแผนการศึกษา สรุปได้ดังนี้ สามัญศึกษา (General Education) ได้แก่การศึกษาต่าง ๆ ในวิชาความรู้และความ ฝึกหัดที่เป็นสิ่งสามัญที่บุคคลควรจะรู้และควรมีเพื่อเป็นทุนหรือหนทางในการประกอบอาชีพ และดำรงตนให้อยู่ในที่อันราษฎรผู้ประพฤติชอบ (To be a good citizen) 


วิสามัญศึกษา (Technical Education) ได้แก่การศึกษาต่าง ๆ ในวิชาความรู้หรือศิลปความฝึกหัดอย่างใด ๆ ซึ่งเป็นสิ่งไม่จำเป็นที่สามัญชนทุก ๆ คนควรรู้ ได้แก่ การเรียนเป็นช่าง เรียนเป็นแพทย์ เรียนเป็นอาจารย์ ข้าราชการ เป็นต้น


พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาการศึกษาชาติ เพื่อให้การปฏิรูประบบราชการแผ่นดินสำเร็จได้ตามต้องการ สอดรับกับยุคสมัยและความเจริญก้าวหน้าของโลกทรงทดลองจัดการศึกษาแบบใหม่แบ่งเป็นชั้นต้น ชั้นกลาง และ ชั้นสูง ตามระบบการศึกษาแบบยุโรป มีตารางสอน กำหนดชั่วโมงสอน หลักสูตรรายวิชา ตลอดจนการผลิตตำราเรียน และสอบไล่วัดระดับความรู้ของนักเรียน จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาในระยะนั้น คือ เพื่อให้บุคคลมีพื้นความรู้สำหรับศึกษาต่อและประกอบอาชีพ โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการสนองพระราชปณิธานดังกล่าว การจัดการศึกษาไทยจึงแพร่หลายไปสู่ทวยราษฎร์ทั่วพระราชอาณาจักรในเวลาต่อมา รวมถึงมีการตั้งโรงเรียนเฉพาะทาง เช่น โรงเรียนกฎหมาย โรงเรียนแพทย์โรงเรียนนายร้อยทหารบก ฯลฯ


เมื่อการศึกษาสำหรับราษฎรแพร่หลายแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในการตั้งโรงเรียนพิเศษชั้นสูง สำหรับฝึกสอนบุคคลสำหรับใช้ในราชการและราชสำนัก เพื่อให้รู้ธรรมเนียมปฏิบัติ และทรงได้เห็นอุปนิสัยใจคอของนักเรียนตั้งแต่แรกเริ่ม จึงมีการจัดตั้งสำนักฝึกหัดวิชาชั้นสูง หรือ โรงเรียนมหาดเล็ก โดยมีพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์เป็นผู้ดำเนินการ เมื่อ พ.ศ. 2442 และเป็น โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลาต่อมา

Terms of Service © 2024 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)