X
ทำไม! ทุเรียนภูเขาไฟ ถึงอร่อย ไขคำตอบด้วย “ธรณีวิทยา”

ทำไม! ทุเรียนภูเขาไฟ ถึงอร่อย ไขคำตอบด้วย “ธรณีวิทยา”

17 มิ.ย. 2567
4150 views
ขนาดตัวอักษร

17 มิ.ย.67 - ใครเคยกิน “ทุเรียนภูเขาไฟ” ยกมือขึ้น เคยส่งสัยไหมว่า ทำไมทุเรียนภูเขาไฟ ถึงรสชาติแตกต่างจากแหล่งปลูกอื่น บางคนยกนิ้วให้ว่า ทุเรียนภูเขาไฟอร่อยที่สุด ไขคำตอบเรื่องนี้ด้วย “ธรณีวิทยา” กันเถอะ!


ทุเรียน หนึ่งในผลไม้ยอดฮิตที่ติดตลาดครองใจทั้งไทยทั้งเทศ ที่ทุกปีสาวกทุเรียนต้องยอมควักกระเป๋าพาทุเรียนพูโตๆ กลับบ้านเป็นอาหารมื้อพิเศษ บ้างก็ชอบหมอนทองระยอง หรือจะลองพวงมณีของเมืองจันทบุรี หลงหลินลับแลของอุตรดิตถ์ แต่บางคนขอชูสองมือให้กับ “ทุเรียนภูเขาไฟ จ.ศรีสะเกษ” ที่บอกว่าช่วงนี้ทุเรียนภูเขาไฟรสชาติดีที่สุด

เอ๊ะ! แล้วทำไมทุเรียนภูเขาไฟ ถึงได้มีรสชาติที่ต่างจากทุเรียนทั่วไปกันละ เรื่องนี้มีคำตอบด้วย “ความรู้ด้านธรณีวิทยา”


กรมทรัพยากรธรณี บอกเคล็ดลับความอร่อยของทุเรียนภูเขาไฟ ไว้แบบนี้ครับ “ทุเรียนจากจังหวัดศรีสะเกษ” ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) นั่นปลูกในพื้นที่ดินภูเขาไฟ

“โดยสิ่งที่จังหวัดจันทบุรีและศรีสะเกษ มีเหมือนกันนั่นก็คือ "หินบะซอลต์" หรือหินภูเขาไฟที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวานอกเปลือกโลก”

ประกอบด้วยแร่แมกนีเชียมออกไซด์ (MgO) และแคลเซียมออกไซด์ (CaO) สูง โดยที่มีแร่ซิลิกา (SiO2) และโซเดียมออกไซด์ (Na2O) ต่ำ รวมถึงโพแทสเซียมออกไซด์ (K2O) ทั้งนี้หินบะซอลต์ยังมีประโยชน์อื่นๆ เช่น ใช้เป็นหินโรยทางรถไฟ และหินก่อสร้าง รวมถึงเป็นแหล่งแร่พลอยด้วย


หากดูตามแผนที่ธรณีวิทยาประเทศไทย หรือแผนที่จังหวัดศรีสะเกษ จะเห็นสัญลักษณ์ bs แทนความหมายว่า “หินบะซอลต์” ซึ่งเป็นหินภูเขาไฟเนื้อละเอียด สีเทาดำ พบบริเวณดินแดนอีสานใต้ แถบเทือกเขาพนมดงรัก จังหวัดศรีษะเกษ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอขุนหาญ และอำเภอศรีรัตนะ ซึ่งในอดีตมีการทดลองปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ปรากฎว่าได้ผลดี ให้ผลผลิตสูง และคุณภาพดี และเริ่มปลูกอย่างจริงจัง เมื่อปี พ.ศ. 2531 


จนกระทั้งถึงปัจจุบันปี พ.ศ. 2567 จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูกทุเรียนทั้งหมด 18,830 ไร่ ถูกปกคลุมด้วยดินภูเขาไฟ ดินมีลักษณะเหนียว สีแดง ระบายน้ำดีมาก ดินมีธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ ที่ผุพังมาจากหินบะซอลต์ที่จำเป็นต่อพืชปริมาณสูง รวมทั้งเกษตรกรศรีษะเกษ ยังใช้น้ำบาดาลในการให้น้ำแก่ทุเรียน ซึ่งต้นกำเนิดน้ำบาดาลดังกล่าวมาจากชั้นหินให้น้ำที่อยู่ลึกลงไปใต้ดินที่อยู่ตามรอยแตกของหินบะซอลต์ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของจังหวัดศรีสะเกษที่ไม่ชื้นจนเกินไป แสงแดดมีความเข้มสูงทำให้ต้นทุเรียนได้รับแสงต่อวันยาวนาน ผลทุเรียนจึงดูดธาตุอาหารจากดินมาช่วยสังเคราะห์แสงได้อย่างเต็มที่ จึงส่งผลให้ทุเรียนมีรสชาติอร่อย และกรอบ จนได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ปลูกในพื้นที่ดินภูเขาไฟของจังหวัด นั่นเอง




ขอบคุณข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑ์สิรินธร-Dinosaur museum สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 กรมทรัพยากรธรณี

ขอบคุณภาพจาก FB : teerapong tantayanont ทุเรียนภูเขาไฟ ไร่วรปรัชญ์

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล