X
“ส่วย” คืออะไร? | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

“ส่วย” คืออะไร? | คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง

29 พ.ค. 2566
11890 views
ขนาดตัวอักษร

“ส่วย” คืออะไร หมายถึงอะไร? รู้หรือไม่ จริง ๆ แล้วส่วย มีหลายความหมายนะ จะมีความหมายอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ


คำว่า “ส่วย” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 จัดเก็บเอาไว้ว่า หมายถึง

  • - (โบ) น. รายได้แผ่นดินประเภทหนึ่ง เรียกเก็บเป็นสิ่งของหรือเงินตราแทนการเข้าเดือนหรือการรับราชการ
  • - น. สิ่งของพื้นเมืองที่เมืองหลวงเรียกเกณฑ์จากหัวเมืองเป็นประจำเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการ
  • - น. บรรณาการจากประเทศราช
  • - น. ชนชาติพูดภาษาตระกูลมอญ-เขมรพวกหนึ่ง อยู่ทางภาคอีสาน

ความหมายตามสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม 27 ได้ให้คำอธิบายของ “ส่วย” เอาไว้ว่าเป็นชนชาติในตระกูลมอญ-เขมร คำว่า “ส่วย” เป็นชื่อที่คนไทยเรียก แต่พวกส่วยเรียกตัวเองว่า “กวย” หรือ “กูย” ซึ่งแปลว่า คน  ถิ่นเดิมของพวกส่วยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศลาว

การเรียกว่า “ชาวส่วย” น่าจะเริ่มจากในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) เมื่อมีการสักเลก (หรือเลข) และเรียกเก็บส่วย คือสิ่งของหรือเงินแทนการเกณฑ์แรงงานซึ่งอาจเป็นสัตว์ ผลผลิตจากป่า เงิน ซึ่งได้จากชาวส่วย

นอกจากความหมายข้างต้นแล้ว ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ปรากฏคำว่า “ส่วย” เช่นกัน โดยมีหลักฐานจารึกในประวัติศาสตร์ว่ายุคนั้นเป็นยุคที่มีการจัดเก็บภาษีอากรรุ่งเรืองมาก การจัดเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า “ส่วยสาอากร” แบ่งการจัดเก็บออกเป็น 4 ประเภท คือ จังกอบ อากร ส่วย และฤชา 

ความหมายของ “ส่วย” นั้นสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า หมายถึง

- สิ่งของที่รัฐบาลเรียกร้องเอาจากเมืองที่อยู่ภายใต้ปกครอง หรืออยู่ในความคุ้มครองเป็นค่าตอบแทนการปกครองหรือคุ้มครอง ส่วยตามความหมายนี้จึงมีลักษณะเป็นเครื่องราชบรรณาการ

- เงินช่วยราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรชายที่มิได้รับราชการทหารเป็นรายบุคคล เนื่องจากสังคมไทยแต่ดั้งเดิม มีระบบเกณฑ์แรงงานจากราษฎร โดยรัฐไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง แต่จะให้ความคุ้มครองทางกฎหมายเป็นการตอบแทน ทั้งนี้เดิมราษฎรที่ถูกเกณฑ์แรงงาน จะมาประจำการเป็นเวลาปีละ 6 เดือน โดยผู้ที่ไม่มารับราชการเมื่อถึงเวรของตน จะต้องเสียส่วยเรียกว่า ส่วยแทนแรง เพื่อที่ราชการจะได้จ้างคนมาทำงานแทน ส่วยแทนแรง เพื่อที่ราชการจะได้จ้างคนมาทำงานแทน ส่วยแทนแรงนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเงินรัชชูปการในระยะต่อมา (รัชกาลที่ 6)

- เงินที่ทางราชการกำหนดให้ราษฎรร่วมรับภาระในการกระทำบางอย่าง เช่น เกณฑ์ให้ช่วยสร้างป้อมปราการ เป็นต้น

- ทรัพย์มรดกของผู้มรณภาพซึ่งต้องถูกริบเป็นของหลวง อันเนื่องจากเกินกำลังของทายาทที่จะเอาไว้ใช้สอย เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • - กรมสรรพากร.  การจัดเก็บภาษีอากรในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310)
  • - พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554
  • - สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.  ส่วย.  (ออนไลน์)

น้องบัวบานขอฝากอ่านบทความอื่น ๆ ของน้องบัวบานไว้ด้วยนะคะ : bit.ly/khamthai_BB

ป.ล. ก่อนจากกัน น้องบัวบานมีเว็บไซต์ดี ๆ มาฝากพี่ ๆ ทุกคนด้วยนะคะ

  • ❤️คำทับศัพท์ใช้แบบไหน? เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search 
  • ❤️คำนี้เขียนถูกไหม? เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล