X
ใครจริง !! สธ. ชี้โควิดฯ เพิ่มไม่มากเตียงพอ หมอศิริราช โชว์ตัวเลขเตียงวุ่น

ใครจริง !! สธ. ชี้โควิดฯ เพิ่มไม่มากเตียงพอ หมอศิริราช โชว์ตัวเลขเตียงวุ่น

4 ก.ค. 2565
420 views
ขนาดตัวอักษร

กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ของไทยในวันนี้ (4 ก.ค. 2565) พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ยังเพิ่มไม่มาก อยู่ในเกณฑ์รองรับได้ โดยจังหวัดที่พบเพิ่มขึ้น คือ กทม., ปริมณฑล, จังหวัดใหญ่ และท่องเที่ยว ซึ่งอาจมีการเพิ่มเติม มาตรการป้องกันโรค ขณะที่ อาจารย์แพทย์ศิริราช ออกมาเตือนดัง ๆ ว่า บ้านริมน้ำ เริ่มตึงมือมา...กว่าสัปดาห์แล้ว บุคลากรด่านหน้า กลับมาทำงานกันหนักขึ้น วิ่งวุ่น หมุนเตียงคนไข้กันมือระวิง ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยจริง ปลายสัปดาห์ก่อน น่าจะวันละ 50,000 คนแล้ว ต่างกับตัวเลขรายวัน ที่เราเห็นกันในรายงาน

โดย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชา โรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว นิธิพัฒน์ เจียรกุล ในวันนี้ (4 ก.ค. 2565) กล่าวถึงสถานการณ์จริงของ ผู้ป่วยโควิด 19 โดยระบุว่า



ต้องขอออกมา เตือนกันให้ดัง ๆ ว่า สถานการณ์โควิด ขณะนี้ เขม็งเกลียวขึ้นมาใหม่ ทุกคนและทุกฝ่าย ต้องช่วยกันประคองภาพรวม ไม่ให้กลับไปทรุดหนักอีกรอบ แล้วรอลุ้นให้เกิดการปรับฐาน โรคซาลงในช่วงอีก 2 - 3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อจะได้ร่วมเดินหน้าผลักดันประเทศ ที่กะปลกกะเปลี้ยกันต่อไป

สถานการณ์ที่บ้านริมน้ำ เริ่มตึงมือมา...กว่าสัปดาห์แล้ว จำนวนผู้ป่วยโควิด ที่จำเป็นต้องรับเข้าโรงพยาบาล เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งส่วนน้อย ที่ป่วยจากโควิดโดยตรง และส่วนใหญ่ ที่ป่วยจากโรคอื่น แต่มีการติดเชื้อโควิดร่วมด้วย จนทำให้บุคลากรด่านหน้า ที่กันไว้จำนวนหนึ่ง สำหรับงานโควิด ต้องกลับมาทำงานกันหนักขึ้น จากเดิมกว่าเท่าตัว และต้องวิ่งวุ่น หมุนเตียงกันมือระวิง เพื่อลดจำนวนคนไข้ ที่ตกค้างรอรับไว้ในโรงพยาบาล

สภาพเช่นนี้ กำลังเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลใหญ่ อีกหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สวนทางกับตัวเลขรายวัน ที่แจ้งว่า ยังมีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด เหลืออีกมาก ตัวเลขที่ว่านั้น เป็นแค่กรอบจำนวนเตียง ที่จะขยายขึ้นได้ภายใต้เงื่อนไข แต่ที่มีใช้งานอยู่จริง ตอนนี้เริ่มร่อยหรอเต็มที ส่วนกรอบที่จะขยายได้ ก็ถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยอื่น ที่ไม่ใช่โควิด จนเกือบไม่เหลือหลอแล้ว



จากข้อมูลที่รับทราบมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยจริง เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน น่าจะอยู่ที่ราว วันละ 50,000 คนแล้ว ต่างกับตัวเลขรายวัน ที่เราเห็นกันในรายงาน แถมยังมี ปรากฏการณ์ยอดตก ช่วงต้นสัปดาห์ เช่นดังรูปของวันนี้ ซึ่งเป็นผลจากระบบ การตรวจหาเชื้อ และรายงานผลช่วงวันหยุด ส่วนตัวเลข ผู้ป่วยอาการรุนแรงที่เพิ่มขึ้นจาก 600 แล้วมาหยุดแถวก่อน 700 ดังในอีกรูปนั้น ก็เป็นผลจากระบบการรายงาน ที่จะมียอดวิ่งเข้ามาเป็นก้อน ๆ ไม่ได้สม่ำเสมอในทุกวัน

วันนี้ เป็นวันสุดท้ายของระบบการเบิกจ่ายเงิน ค่าตรวจรักษาโรคโควิด-19 ในรูปแบบเดิม เพื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รูปแบบปกติ ของระบบสุขภาพพื้นฐาน เรียกว่า เป็นส่วนหนึ่งของการเดินหน้า เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ที่ได้เตรียมการรองรับกันไว้ มานานก่อนหน้าแล้ว เมื่อประกอบกับสถานการณ์ การระบาดที่กลับปะทุขึ้นใหม่ แม้จะยังไม่แรง ถึงครึ่งหนึ่งของช่วงพีคโอไมครอนครั้งก่อน แต่ต้นทุนประเทศ ในการดูดซับปัญหาเราร่อยหรอ ยอบแยบเต็มที ทั้งด้านงบประมาณ และด้านบุคลากร หากไม่ออกแรงฮึด ช่วยกันชะลอควบคุมการระบาดให้อยู่มือ อาจเห็นมีผู้ป่วยอาการรุนแรง ตกค้างในชุมชน และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น แล้วคงหลีกเลี่ยงดราม่าครั้งใหม่ไม่พ้นแน่



ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ต้องบอกความจริง และออกมาเตือนให้ประชาชน เตรียมพร้อมรับมือ ไม่ใช่คอยแต่ให้ท้าย เพื่อปลดหน้ากาก หรือเพิ่มกิจกรรมทางสังคม ที่เสี่ยงแต่เพียงด้านเดียว

ด้าน กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โควิด พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล ยังเพิ่มไม่มาก อยู่ในช่วงการเข้าสู่ระลอกเล็ก ๆ (Small Wave) แรก... หลังพ้นระลอกโอมิครอน เมื่อต้นปี (2565) คาด 10 สัปดาห์จากนี้ อาจพบผู้ป่วย ในโรงพยาบาลมากขึ้นสูงสุด ในช่วงกันยายน ย้ำอย่าเพิ่งรีบผ่อนคลายหน้ากาก และยังต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น



นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน ในวันนี้ (4 กรกฎาคม 2565) ว่า สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกหลายประเทศ พบรายงานสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน BA.4 / BA.5 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะยุโรป, สหรัฐอเมริกา ดังนั้น ผู้เดินทางไปต่างประเทศ ที่อาจมีการผ่อนคลาย เรื่องหน้ากากแล้ว ยังแนะนำให้สวมหน้ากาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพื่อไม่ให้นำเชื้อ กลับมาติดกลุ่มเสี่ยงที่บ้าน และเมื่อกลับมาแล้ว ขอให้สวมหน้ากาก เลี่ยงไปสถานที่สาธารณะ ถ้าป่วยมีอาการแล้ว สงสัยตรวจ ATK ได้เลย

สำหรับประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยกำลังรักษา ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ทำให้พบผู้ติดเชื้อ ที่อาการไม่มาก และรักษาตัวที่บ้านมากขึ้น โดยพบผู้รักษาในระบบ HI เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 1.5 หมื่นราย ลงทะเบียนรับยาผ่านระบบ สปสช. แบบผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 1.91 แสนราย เป็น 2.07 แสนราย ในสัปดาห์นี้ แต่ผู้ป่วยที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก อยู่ในเกณฑ์รองรับได้ ในระบบสาธารณสุข โดยจังหวัดที่พบ เข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คือ กทม. ปริมณฑล จังหวัดใหญ่ และท่องเที่ยว จึงต้องพิจารณา ควบคุมการระบาดในบางส่วน อาจมีการเพิ่มเติมมาตรการป้องกันโรค เช่น

+ การสวมหน้ากาก ไปในพื้นที่มีการรวมกลุ่ม
+ การใช้ขนส่งสาธารณะทุกประเภท ต้องสวมหน้ากาก

สำหรับอัตราครองเตียง ภาพรวมอยู่ที่ร้อยละ 10 แม้บางจังหวัด ที่มีการนำเตียงโควิดไปใช้ดูแลรักษาโรคอื่น ทำให้อัตราครองเตียงเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในระดับร้อยละ 20 - 30 ยังไม่เกินร้อยละ 50 ที่ต้องเพิ่มจำนวนเตียง ส่วนยารักษาต่าง ๆ มีมากพอรองรับ



นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้คาดการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป ว่า อาจเกิดการระบาดเป็นระลอกเล็ก ๆ (Small Wave) ได้ ซึ่งช่วงนี้มีสัญญาณว่า กำลังมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาจทำให้มีผู้ป่วย ไปรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น หากยังคงมาตรการเหมือนช่วง เดือนมิถุนายน คาดช่วง 10 สัปดาห์จากนี้ ไปจนถึงเดือนกันยายน จะเป็นช่วงพีคสุดของเวฟ ในการเจอผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล แต่ถ้าผ่อนคลายมาตรการทั้งหมด ไม่สวมหน้ากาก ก็อาจจะมีผู้ป่วยมากขึ้นอีก และหากกลุ่ม 608 ป่วยมากขึ้น ก็อาจจะเป็นระลอกใหญ่ขึ้นได้ ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบผ่อนหน้ากากอนามัย ขอให้ใส่ไว้ก่อน เมื่ออยู่ในสถานที่ปิด สถานที่แออัด ขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และรีบไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดและป้องกัน อาการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตลงได้

และจากเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งเปิดเผยข้อมูล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยการอัปเดตล่าสุด สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 - วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.30 น. ระบุว่า

ผู้ป่วยรายใหม่ 1,995 ราย
ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,308,665 ราย
หายป่วยแล้ว 2,308,070 ราย
เสียชีวิตสะสม 9,020 ราย


ข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563
ผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,532,100 ราย
หายป่วยแล้ว 4,476,564 ราย
เสียชีวิตสะสม 30,718 ราย


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : นิธิพัฒน์ เจียรกุล (รศ.นพ.นิธิพัฒน์)
https://www.facebook.com/100002870789106

เฟซบุ๊ก : ศูนย์ข้อมูล COVID-19
https://www.facebook.com/informationcovid19



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล