X
ฐากร ชู PCB หัวใจหลักเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิตัล

ฐากร ชู PCB หัวใจหลักเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจดิจิตัล

17 ก.ย. 2567
60 views
ขนาดตัวอักษร

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.อว.) กล่าวในงานเปิดสัมมนาเรื่อง "ปลุกไทยฝ่าวิกฤต ปั้น PCB เศรษฐกิจแสนล้าน" จัดโดย กมธ.อว. ร่วมกับบริษัทมติชน จำกัด(มหาชน) ว่าการจัดงานครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย เพราะไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ แต่ยังสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในระยะยาว  กมธ.อว.มุ่งส่งเสริมและพัฒนาระบบการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมของประเทศไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกโดยเน้น "วิจัยนำ นวัตกรรมตาม" เพื่อยกระดับภาคการศึกษา ภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัย 

 

นายฐากร กล่าวว่าการพัฒนาและส่งเสริมแผ่นวงจรพิมพ์ หรือ พีซีบี ถือเป็นหัวใจสำคัญหลักในการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ อาทิ อุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งอนาคต อย่างคอมพิวเตอร์ ยานยนต์อัจฉริยะ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เอไอเซิร์ฟเวอร์ และอุปกรณ์รับส่งสัญญาณดาวเทียม โดยพีซีบีจะทำหน้าที่เป็นฐานในการประกอบหรือเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้าของอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถทำงานได้ พีซีบีจึงถือเป็นกระดูกสันหลังหลักของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดก็ว่าได้ ทำให้อุตสาหกรรมพีซีบีมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่โลกดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญ

 

“ปัจจุบันประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกพีซีบีประมาณ 1.5 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 4% ของตลาดโลกที่มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านบาทเราจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเพิ่มมูลค่าการส่งออกของพีซีบีให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เพราะคาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือช่วงปี 2569 ตลาดพีซีบีโลก จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกเป็นประมาณ 5.3 แสนล้านบาท ประเทศไทยจะทำอย่างไรในการรับอานิสงส์จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมนี้ได้” นายฐากร กล่าว

 

นายฐากร กล่าวอีกว่าจากการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา ต้องขอบคุณรัฐบาลที่มีนโยบายในด้านนี้ ที่จะต่อยอดและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งได้พูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ก็ให้ความสนใจพีซีบีเป็นกรณีพิเศษ สอดคล้องและเป็นแนวทางเดียวกับทิศทางการขับเคลื่อนของคณะกรรมาธิการ อว. ซึ่งจากข้อมูลสถานภาพของอุตสาหกรรมพีซีบีในประเทศไทย หากภาครัฐร่วมมือส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ที่ทั้ง 3 หน่วยงานมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ และการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาเปิดโรงงานอุตสาหกรรมพีซีบีในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น

หากประเทศไทยนำนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติมได้อีกประมาณ 50 ราย เชื่อว่าจะทำให้ส่วนแบ่งของตลาดพีซีบีของไทยเทียบกับตลาดโลกโตขึ้นเป็น 10-15% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี ทำให้ไทยก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากประเทศจีนเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับประเทศมากแล้วยังสามารถนำพาประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างที่รัฐบาลประกาศไว้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้เราต้องร่วมมือกัน

 

“การจัดงานครั้งนี้ คณะกรรมาธิการ อว. สภาผู้แทนราษฎร คาดหวังว่าจะเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาล ภาคเอกชน และนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมมือกัน "ปลุกไทยฝ่าวิกฤติ ปั้นพีซีบี เศรษฐกิจจากแสนล้านที่มีอยู่เดิมให้เป็นเศรษฐกิจหลายแสนล้านบาทให้ได้" และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่การสร้างรายได้แก่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก และช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในหลายด้านด้วย”นายฐากรกล่าวและว่าการสัมมนาครั้งนี้ยังจะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาเพื่อร่วมมือกันพัฒนาอุตสาหกรรมพีซีบีให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศต่อไป"นายฐากรกล่าว

 

นายฐากรกล่าวต่อว่ายกตัวอย่างประโยชน์ที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมพีซีบี 4 ด้านที่สำคัญ คือ 1.ทำให้เกิดการสร้างงานและการจ้างงานที่มีคุณภาพสูงขึ้น เพราะอุตสาหกรรมพีซีบีเป็นแหล่งสร้างงานให้กับแรงงานไทยจำนวนมากโดยประมาณ 120,000 คน ตั้งแต่แรงงานในสายการผลิตวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะในด้านเทคโนโลยี การพัฒนาภาคส่วนนี้จะเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึงงานที่มีรายได้สูงขึ้น และมีความมั่นคงส่งผลให้ครอบครัวและชุมชนได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม  2.เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นการเตรียมความพร้อมให้คนไทยมีทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและมีความต้องการสูง สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีอาชีพที่มั่นคง และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น 3.การเติบโตในด้านเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน เกิดการกระจายรายได้และการกระจายตัวในอุตสาหกรรมทั้งภายในและภายนอกประเทศ สร้างความมั่นคงเศรษฐกิจในประเทศในระยะยาว 4.มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน

 

ต่อมานายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวว่าPrint Circuit Board หรือ PCB ปัจจุบันพัฒนาไปมาก ซึ่งตัว PCB มาอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น PCB ใน เครื่องเล่นดีวีดี ก็จะเป็นเหมือนสมองกลแปลภาพขึ้นไปบนจอ ฉะนั้น PCB คือการส่งต่อสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้น ให้สามารถนำไปใช้งานได้ ซึ่ง PCB มีอยู่ภายในทุกอย่าง ไม่ว่าเร้าเตอร์ที่ใช้ในบ้าน เสาสัญญาณเครือข่าย 5G ทั้งหมด รวมไปถึงในอวกาศ คือดาวเทียม (satellite) ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทมากในการติดต่อสื่อสาร

PCB จึงเป็นพื้นฐานของการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งมี 3 เจ้าใหญ่ คือ จีนญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วนที่ไทยก็มีโรงงานทำ PCB อยู่เหมือนกัน ซึ่งเราจะต้องมองและนำมาพัฒนาให้ได้ โดยต้องพึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

 

นายแพทย์สรณกล่าวว่าสำหรับความท้าทายในการทำอุตสาหกรรม PCB นั้น หากไทยมีแรงงานทักษะด้านนี้ในการทำฮาร์ดแวร์ มั่นใจได้เลยว่าสามารถทำได้ และเมื่อทำฮาร์ดแวร์ได้เก่ง เดี๋ยวซอฟต์แวร์ก็จะตามมาเอง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องท้าทายที่ไทยต้องเรียนรู้ ถ้าหากประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิต PCB ความต้องการของตลาดจะโตมาเอง โดยมูลค่าตลาดในปี 2566 ในส่วนเครื่องรับโทรศัพท์ มีมูลค่าตลาดเติบโตประมาณ 15% โทรศัพท์บ้าน หรือ fixed line โต 14% และโทรศัพท์มือถือ โต 15% ขณะที่อุปกรณไร้สาย หรือตู้ชุมสาย มีมูลค่าตลาดที่  3.5 หมื่นล้านบาท อุปกรณ์สื่อสารไร้สาย 2.5 หมื่นล้านบาท และมูลค่าของตลาดเทเลคอมขณะนี้อยู่ที่2.4 แสนล้านบาท ดังนั้น ล้วนแต่จะได้อานิสงส์จากการที่เราพัฒนา PCB ของไทยเราเอง

 

"ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นประเทศไทยที่จะต้องมุ้งเน้นเรื่องนี้ เมื่อตอนแถลงนโยบายรัฐบาลที่เพิ่งผ่านมา มีการพูดถึงอเมริการักเรา จีนก็รักเรา ซึ่งหมายถึงจีนและไต้หวัน หากอเมริกากับจีนไม่ถูกกัน ผลประโยชน์อาจจะมาตกที่เรา เพราะฉะนั้นปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ทำให้เราได้เปรียบ ถ้าเขาย้ายฐานการผลิต เพราะเรามีแรงงานทักษะ ค่าจ้าง และ โครงสร้างพื้นฐานที่ตอบโจทย์ และยังมีนโยบายของรัฐบาล ที่สำคัญมีสำนักงาน BOI มี EEC และเรามีสิ่งที่เป็นฐานที่ตั้ง เรามี 5G เป็นกลไกสำคัญที่จะพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ให้ก้าวหน้าได้มากยิ่งขึ้น"นายแพทย์สรณกล่าว

 

ต่อมาเป็นการเสวนาช่วงที่ 1 เรื่อง "ปลุกไทยฝ่าวิกฤติ ปั้นพีซีบี เศรษฐกิจแสนล้าน" ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร, นายนฤตม์เทอดสถิรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI), นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช) นายเลิศศักดิ์ เลขวัต รักษาการผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยนายอัครเดชกล่าวว่าอุตสาหกรรมพีซีบีจะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในอนาคตเป็นฐานการฃงทุนใหม่ แต่ทำอย่างไรให้สามารถแข่งขันได้ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ในอนาคตจึงต้องแก้ไขกฎหมาย ที่ผ่านมาได้ยื่นแก้กฎหมายหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า, พ.ร.บ.กองทุนโรงงานซึ่งได้ร่างขึ้นมาแล้ว  และจะมีอีก 7 ฉบับที่ยื่นขอแก้ไข  กรรมาธิการการอุตสาหกรรมพร้อมเป็นข้อกลางเชื่อมในภาคธุรกิจ ผู้บริหาร รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและภาคเอกชน

 

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่าหากประเทศไทยอยากเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมนี้ เราต้องโฟกัสโดยการคัดเลือกว่าประเภทไหนที่ประเทศไทยมีความเก่งหรือดีกว่าประเทศอื่น เช่น S-Curve แบบปัจจุบัน หรือ New S-Curve ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตที่เกี่ยวกับทางด้านดิจิตัลต่างๆ ถ้าเราสามารถทำในสิ่งที่เราโฟกัสได้ เราก็สามารถเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมได้

"ในทุกๆ วันเราใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือซึ่งจะใช้เป็นพีซีบีทั้งหมดและทาง กสทช.มีส่วนร่วมคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดีให้กับประเทศในสมัยก่อนจะใช้ 2G 3G 4G ที่เป็นมนุษย์ติดต่อกับมนุษย์ ในส่วนของ 5G จะเป็นอุปกรณ์ติดต่อกับอุปกรณ์มากกว่า ถ้าโรงงานมีความต้องการที่จะเปิดเป็นโรงงานแบบอะโรเมติกส์ ก็สามารถเปิดได้เพราะทางกสทช.นั้นได้ทำโครงสร้างพื้นฐาน ได้ดำเนินการประมูลขึ้นพร้อมที่จะให้บริการโรงงานในเขตอุตสาหกรรมที่ต้องการจะทำแบบอะโรเมติกส์ ทางกสทช.มีทุนให้กับนักศึกษา หรือ สตาร์ทอัพที่มีแนวคิดใหม่ๆ อยากจะทดลองแต่ไม่มีทุนทรัพย์สามารถขอทุนกับ กสทช.ได้ซึ่งเป็นจุดเสริมของโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้เรายังมีโครงสร้างพื้นฐาน 5G ที่ครอบคลุมประมาณ 90% ต่อประชากร เพราะฉะนั้นการที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไอซีที ปัญญาประดิษฐ์ AI หรือ Internet of Things(IOT) เข้ามาเสริมและโรงงานเป็นคนที่ช่วยผลิตพีซีบีไม่ได้เป็นเรื่องยาก สังเกตได้ว่าสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศชี้ว่าดัชนีการเติบโตด้านไอซีทีในปี 2024 เพิ่มขึ้น 3% จาก 88% มาเป็น 91% ซึ่งสามารถมั่นใจได้เลยว่าประเทศไทยได้สร้างไว้ครอบคลุมทั้งหมดแล้ว นักลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องกังวล

 

ด้านนายเลิศศักดิ์ กล่าวว่าอุตสาหกรรมพีซีบีเป็นพื้นฐานของระบบอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันมูลค่าโดยรวมของโลกอยู่ที่ประมาณ 80-1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการสำรวจว่าในปี ..2029จะชึ้นไปจนถึง 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ จะเห็นว่าตลาดพีซีบีโลกมีความกว้างขยาดไหน แต่ปัจจุบันมีตลาดอีกแห่งที่เกิดขึ้นมา คือตลาดชิป AI ทำให้เพิ่มศักยภาพในตลาดเมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในแง่ตลาดพีซีบีโลกแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือฝั่งเอเชีย และด้านยุโรปอเมริกา จะเห็นได้ว่า 48 เปอร์เซ็นต์ของตลาดอยู่รอบๆประเทศไทย ถ้าเทียบด้านมูลค่าส่งออกขแงบ้านเราอยู่ที่ 150,000ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 0.15 เปอร์เซ็นต์ของตลาดโลกในปัจจุบัน เราต้องมาคิดกันต่อว่าถ้าเจาะตลาดตรงนั้นได้ อนาคตอุตสาหกรรมพีซีบีของไทยจะจ้างแรงงานคนเพิ่มได้มากขนาดไหนเพื่อมาเติมโอกาสแรงงานที่ยังว่างอยู่ได้หรือไม่

 

 

"ผมเชื่อว่าถ้าวันข้างหน้าธุรกิจพีซีบีขยายตัวมากขึ้นจะมีการจ้างงานเพิ่มนับแสนคน แต่ในส่วนนี้มีความท้าทายด้านปริมาณคน เพราะเรากำลังอยู่ในช่วงแรกของการเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ ผมมองว่าเราจะเหนื่อยรัฐบาลจะต้องเร่งสนับสนุน เพราะเราจะตามๆม่ทันและสูญเสียโอกาสตรงนี้ไปเหมือนกับที่เราเคยสูญเสียโอกาสในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์เมื่อ10 กว่าปีที่ผ่านมา ถ้าเกิดว่าเราไม่เสียโอกาสในครั้งนั้น ผมเชื่อว่าปัจจุบันเราจะกลายเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์อย่างแน่นอน ดังนั้นภาครัฐจะต้องเข้ามาสนนับสนุนในส่วนนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบในอดีต"นายเลิศศักดิ์กล่าว

 

นายเลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า ตอนนี้ไม่ได้กังวลเรื่องการศึกษา แต่กังวลปริมาณของคนที่จะเพียงพอต่อการเติบโตหรือไม่ เพราะมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตได้เต็มที่ปีละ 1,000 คน แต่อุตสาหกรรมนี้ต้องการเป็น 10,000 คนต่อปีในเมื่อไม่สามารถหวังปริมาณนักศึกษาจบใหม่ได้ เราต้องมาคิดกันต่อว่าจะเพิ่มสกีลความสามารถให้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพมากขึ้นเพราะอุตสาหกรรมนี้ไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือ แต่เป็นแรงงานมีฝีมือ เนื่องจากเครื่องจักรต่างๆที่ใช้ในการปฏิบัติงานเป็นแบบอัตโนมัติแทบทั้งหมด ผู้มาปฏิบัติงานจึงต้องมีองค์ความรู้ในเรื่องระบบไฟฟ้าด้วย เราต้องตั้งเป้าไว้3-5 ปีข้างหน้า ช่วงแรกอาจใช้คนต่างชาติก่อน แล้วค่อยให้เฟดตัวออกไปซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะไม่มีการอ้างว่าจำนวนคนไม่พอจึงเริ่มต้นการทำงานไม่ได้

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล