X
เปิดตำนานความเชื่อ

เปิดตำนานความเชื่อ "ผีปอบ"

30 ต.ค. 2566
8600 views
ขนาดตัวอักษร

ผีปอบ” ปรากฏความเป็นเชื่อต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ว่ากันว่าผีชนิดนี้จะสิงอยู่ในตัวคน กินตับไตไส้พุงจนหมด จนคนนั้นถึงแก่ชีวิต


ผีปอบ  พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ระบุไว้ว่า คือ ผีชนิดหนึ่งเชื่อกันว่าสิงอยู่ในตัวคน กินตับไตไส้พุงจนหมดแล้วออกไป คนนั้นก็ตาย


ภาษาอีสานจะเรียก “ผีปอบ” ว่า "คะลำ" ซึ่งผู้ที่เป็นปอบจะเป็นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยในบางความเชื่อ  มีการเล่าต่อกันมาว่า "ผีปอบ" มีต้นกำเนิดมาจาก ผู้ที่มีวิชาทางไสยศาสตร์ วิชามนต์ดำ ที่สามารถใช้เวทมนต์คาถาไปทำร้ายหรือทำลายชีวิตผู้อื่นได้ เช่น เสกหนังควาย เสกตะปูเข้าท้อง ซึ่งคนเหล่านี้ จะมีข้อห้ามหรือข้อฏิบัติกำกับอยู่ด้วยเสมอ หากมีการละเมิดหรือกระทำผิดในข้อปฏิบัติ จะก่อให้เกิดโทษหนัก และกลายไปเป็นปอบ 


ในตามความเชื่อเรื่องปอบ พบว่าสามารถแบ่งได้ 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

1.ปอบธรรมดา ผู้ที่มีปอบสิงอยู่ในร่าง เมื่อเจ้าของร่างตายไป ปอบที่สิงสู่อยู่ก็จะตายตามไปด้วย

2. ปอบเชื้อ คือ ครอบครัวใดพ่อแม่เป็นปอบ เมื่อพ่อแม่ตายไป ลูกหลานจะสืบทอด เป็นปอบต่อไปเรื่อย ๆ

3. ปอบแลกหน้า คือ ปอบเจ้าเล่ห์ เอาความผิดโยนให้ผู้อื่น เวลาไปเข้าสิงใคร เมื่อถูกสอบถามว่ามีผู้ใดเลี้ยงหรือบังคับ ปอบจะไม่บอกความจริง แต่ไปกล่าวโทษว่าเป็นคนนั้นคน


เวลาปอบเข้าคนนั้นมีอาการต่างๆ กัน บางคนร้องเอะอะโวยวาย บางคนร้องไห้โฮ บางคนล้มฟุบสลบไสลไปในทันทีทันใด บางคนไม่มีอาการดังกล่าวเลย แต่อาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่แล้วก็ทรุดหนักลงไปทันทีทันใดเหมือนกัน บางคนกว่าจะรู้ว่าปอบเข้าสิงก็เวลาผ่านไปแล้วตั้งวันสองวัน


ส่วนวิธีไล่ปอบ ตามความเชื่อนั้นมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น คั่วพริกให้ควันเข้าจมูก แทงด้วยว่าน เอาสัตว์น่าเกลียดน่ากลัวบางชนิด เช่น คางคก ตุ๊กแก เป็นต้นมาทำให้กลัว (วิธีนี้ส่วนมาใช้กับผู้หญิง) แต่ส่วนมากมักไล่ด้วยคาถาอาคมซึ่งมีหมอผี (ปอบ) ไล่โดยเฉพาะ


ด้านวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความของ สงัน สุวรรณเลิศ เกี่ยวกับเรื่องปอบว่า โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ผีเข้ามีอยู่มากมายหลายชนิดด้วยกัน ชาวบ้านมักจะมีความเชื่อว่าผีเป็นต้นเหตุของการเจ็บป่วยทั้งร่างกายและจิตใจ ในทางร่างกายถ้าผีเข้าแล้วไม่ออกก็เชื่อกันว่าคน ๆ นั้น จะต้องตายไปหรือในทางจิตใจก็จะกลายเป็นคนที่สติไม่สมประกอบ และเป็นคนวิกลจริตในที่สุด ซึ่งอาการวิกล จริตดังกล่าวแล้วนี้ ในปัจจุบันเราเรียกว่าเป็นการเจ็บป่วยทางจิตเวชศาสตร์อย่างหนึ่ง


จากการได้ศึกษาและรักษาผู้ป่วยที่ญาติผู้ป่วยคิดว่าผีเข้าที่เข้ามารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลฝ่ายจิต ได้มีความคิดเห็นในเรื่องผีเข้านี้อยู่หลายประการด้วยกันคือ

1. ผีเข้าโดยสมัครใจจากผู้ให้เข้าเช่น การทรงเจ้า การทรงผีบรรพบุรุษหรือผีเชื้อเข้าสู่ตัว เพื่อผลของการรักษา เพื่อทำนายหรือเพื่อทราบข่าวสาร

2. ผีเข้าโดยผู้ถูกเข้าไม่สมัครใจจะให้เข้าเช่น ผีตายโหง ผีพราย ผีปอบหรือผีกะเจ้า ฯลฯ ผีเหล่านี้เป็นที่หวาดกลัวของคน เพราะเชื่อว่าทำให้เกิดการเจ็บป่วยทั้งกายและจิตใจหรือถึงแก่ชีวิตได้


ลักษณะของผีเข้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของผู้ป่วย แบ่งออกได้ 3 ประการคือ

1. คนที่ถูกผีเข้าเพียงครั้งเดียวและไม่เคยเข้าอีกเลย ในชนบทที่อยู่ห่างไกลหรือในตัวเมืองก็ตาม มีชาวบ้านเป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ถูกผีเข้าหรือชาวบ้านคิดว่าผีปอบเข้า กลุ่มอาการที่แสดงออกมานั้น เกิดขึ้นกับคนที่ไม่เคยเป็นอะไรมาก่อนหรืออาจจะมีการเจ็บป่วยทางกายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และมีอาการผีเข้ามาแทรกแซงขึ้นทีหลัง ในกรณีเช่นนี้จะกล่าวว่าเขาป่วยเจ็บทางจิตเวชศาสตร์ยังไม่ได้ เพราะจากการศึกษาพบว่าผู้ที่ถูกผีปอบเข้านี้ มีปัญหากระทบกระเทือนทางจิตใจ


2. คนที่ถูกผีปอบหรือผีอย่างอื่นเข้า และผีอย่างอื่นมักจะมาเข้าอยู่บ่อย ๆ บางที 2-3 วันก็มาเข้าครั้งหนึ่ง หรือทอดระยะไปบ้างและวนเวียนอยู่แบบนี้เรื่อย ๆ ไป เปลี่ยนหน้าหมอผีมาทำการรักษาหลายคน ในกรณีเช่นนี้ในจิตเวชศาสตร์อาจกล่าวได้ว่า คน ๆ นั้น ต้องมีบางสิ่งบางอย่างในจิตใจ จากการศึกษาพบว่าคนที่ถูกผีปอบเข้าบ่อย ๆ มักจะมีอาการเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่ง มีชื่อว่า โรคอุปาทาน (ฮีสทีเรีย) แม้ว่าชาวบ้านจะไม่เห็นด้วยก็ตาม


3. คนที่ถูกผีปอบเข้าอาจจะเป็นหลาย ๆ ครั้งหรือถูกเข้าเพียงครั้งเดียว หรือกำลังถูกเข้าเพียงครั้งเดียว ซึ่งผีปอบไม่ยอมออก จะไล่อย่างไรก็ไม่ยอมออก แม้ว่าในตอนแรก ๆ จะรู้ว่าเป็นผีปอบจริง ๆ ในตอนแรกเวลาที่ไล่ไม่ออกนี้จะใช้เวลาอยู่ราว ๆ 4-27 ชั่วโมง เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างนี้ หมอผีหรือหมอพื้นบ้านมักจะบอกว่ามีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น และอาจไม่ใช่ผีปอบอย่างแน่นอน อาการของคนที่ถูกผีเข้าไม่ออกนี้มักจะออกมาในรูปของคนที่ไม่รู้เรื่องอะไร พูดฟังไม่รู้เรื่อง เอะอะโวยวาย ด่าทอ มีลักษณะแบบวิกลจริต ผู้รักษาแบบพื้นบ้านมักจะบอกว่าเป็นการไม่สมดุลของเลือดลมหรือไม่ก็ให้รักษาแบบเลือดลม ไม่ใช่ผีปอบเข้าอย่างธรรมดา ผู้ป่วยประเภทนี้มักจะถูกส่งมารักษายังโรงพยาบาลทางจิต โรคที่วินิจฉัยก็แตกต่างกันออกไปสุดแท้แต่อาการจะออกมาในรูปใด 


ที่มา: สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย , silpa-mag.com


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2024 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)