X
ถูกผิดนัดชำระหุ้นกู้ ต้องทำอย่างไรเพื่อรักษาสิทธิตัวเอง

ถูกผิดนัดชำระหุ้นกู้ ต้องทำอย่างไรเพื่อรักษาสิทธิตัวเอง

1 ก.ย. 2566
800 views
ขนาดตัวอักษร

จากกรณีที่ช่วงนี้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในตลาดหุ้นกู้มาแล้วหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุดกับ JKN ที่มีข่าวส่อแววผิดนัดชำระหนี้ เราเลยขอพาไปดูว่า หากหุ้นกู้ที่ตัวเราเองถืออยู่ผิดนัดชำระหนี้ จะต้องทำอย่างไร


หุ้นกู้ คือ "ตราสารหนี้" ที่ออกโดยภาคเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่างๆ ของบริษัท เช่น เพื่อการลงทุนขยายกิจการ ซื้ออุปกรณ์ หรือเพื่อก่อสร้างโรงงาน หุ้นกู้สามารถแบ่งออกเป็นหน่วยๆ แต่ละหน่วยมีมูลค่าเท่าๆ กัน ในประเทศไทยการออกหุ้นกู้โดยทั่วไปมักจะกำหนดมูลค่าไว้ที่หน่วยละ 1,000 บาท และหุ้นกู้ส่วนใหญ่มักกำหนดมูลค่าการซื้อขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 บาทหรืออาจมากกว่านั้นในกรณีการขายให้นักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่


ในการลงทุนผ่านหุ้นกู้ ผู้ซื้อหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ในขณะที่ผู้ออกหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นลูกหนี้ ที่มาขอยืมเงินพร้อมสัญญาว่าจะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้คืนให้ผู้กู้ในอัตราที่แน่นอน ตามระยะเวลาของสัญญาการกู้เงิน ซึ่งเป็นสัญญาระยะปานกลางถึงยาว เช่น หุ้นกู้อายุ 3 ปีจนถึง 10 ปี ซึ่งหุ้นกู้จะมีลักษณะเหมือนพันธบัตรรัฐบาล แตกต่างเพียงพันธบัตรรัฐบาล ออกโดยรัฐบาล ในขณะที่หุ้นกู้ออกโดยบริษัทเอกชน


ผลตอบแทนของหุ้นกู้ จะอยู่ในรูปของดอกเบี้ย การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุกๆ 6 เดือน แต่สำหรับหุ้นกู้บางรุ่น อาจจ่ายปีละ 4 ครั้ง หรือทุกๆ 3 เดือน ก็ได้ และดอกเบี้ยที่ได้รับจากหุ้นกู้ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ 15% เช่นเดียวกับรายได้จากดอกเบี้ยชนิดอื่นๆ


สำหรับการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ มี 2 ประเภท คือ การผิดนัดทางเทคนิค และการผิดนัดจริง 

การผิดนัดทางเทคนิคจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ผิดเงื่อนไขบางประเภท ที่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินต้น โดยรวม ๆ เรียกว่า ผิดเงื่อนไข เพราะการเสนอขายหุ้นกู้แต่ละครั้ง จะมีข้อกำหนดเงื่อนไข ข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งต้องเขียนไว้อย่างชัดเจน หมายความว่า ผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้จะต้องทำตามเงื่อนไข พูดง่าย ๆ คือ สัญญาต้องเป็นสัญญา

 

สำหรับการผิดนัดชำระที่เกิดขึ้นจริง จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถชำระเงินได้ และตั้งใจที่จะไม่ชำระตามกำหนดเวลา โดยในเงื่อนไขจะระบุวันชำระคืนเงินต้น จำนวนเงินต้นที่ต้องชำระคืน และวันที่ชำระดอกเบี้ยพร้อมระบุอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในแต่ละงวด แต่เมื่อถึงเวลาก็ไม่ได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามกำหนด ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องดำเนินการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ ชำระหนี้ตามเงื่อนไข ดำเนินการฟ้องร้องบริษัท หรือจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในระยะเวลาที่กำหนดนับตั้งแต่ได้รู้ถึงเหตุผิดนัด เพื่อขอมติในการเรียกร้องให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้หรือฟ้องร้องหากเกิดความเสียหายขึ้น


ดังนั้น เมื่อเห็นสัญญาณว่าผู้ออกหุ้นกู้มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ในฐานะผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องเตรียมตัวเพื่อรักษาสิทธิและผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนี้

1. หาใบหุ้นกู้ให้เจอ

กฎหมายสำคัญประการหนึ่งสำหรับการลงทุนหุ้นกู้ในประเทศไทย คือ ใบหุ้นกู้ โดยส่วนใหญ่เมื่อถึงวันจองและต้องชำระค่าหุ้นกู้ หลังจากนั้นประมาณ 7 – 14 วัน ก็จะได้รับใบหุ้นกู้ในกรณีของใบหุ้น (Scrip) หรือจะได้เอกสารยืนยันในกรณีไร้ใบหุ้นกู้ (Scripless) ดังนั้น เมื่อได้ใบหุ้นกู้มาแล้วก็ควรเก็บไว้เป็นอย่างดี อย่าให้หาย และเพื่อป้องกันการสูญหายควรขอในลักษณะไร้ใบหุ้นกู้ เพราะวันที่ต้องเรียกร้องหนี้เราต้องใช้ใบหุ้นกู้เป็นตัวแสดงสิทธิในการเรียกร้อง


 2. ต้องรู้ว่าผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้คือใคร

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ออกตราสารหนี้เพื่อให้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ทุกอย่างของผู้ถือหุ้นกู้ พูดง่าย ๆ คือ จะคอยดูแลสอดส่องว่าผู้ออกหุ้นกู้ “ทำตามเงื่อนไข” ครบถ้วนหรือไม่ และหากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะมีบทบาทสำคัญมากในการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อหาข้อสรุปและนำมติที่ประชุมไปแจ้งต่อผู้ออกหุ้นกู้ หากผู้ออกหุ้นกู้ไม่ปฏิบัติตาม ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะดำเนินการเรียกร้องให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้จากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามสิทธิที่พึงได้ ดังนั้น ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จึงถือเป็นบอดี้การ์ด คอยดูแลผลประโยชน์ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องรอข้อมูลข่าวสารจากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่จะส่งมาทางจดหมายลงทะเบียน เพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและขั้นตอนการดำเนินการ


 


โดยผู้ถือหุ้นกู้ สามารถดูข้อมูลของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet) ในส่วนลักษณะตราสาร หรือหน้าปกแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (Filing) ทั้งนี้ ผู้ลงทุนค้นหา Factsheet และ Filing ของหุ้นกู้ ได้จากทางแอปพลิเคชัน SEC Bond Check หรือเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. >> คลิกที่นี่


3. ต้องรู้ว่าตัวเองถือหุ้นกู้ประเภทใด และรุ่นไหน

เมื่อรู้ว่าหุ้นกู้ที่ถือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ก็ต้องดูว่าหุ้นกู้ที่ถืออยู่เป็นหุ้นกู้ประเภทใด เพราะหุ้นกู้แต่ละประเภทจะมีลำดับในการชำระหนี้ต่างกัน กล่าวคือ หากบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ล้มละลาย หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ หรือมีคำสั่งให้ต้องขายสินทรัพย์ทอดตลาดเพื่อชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้น จะได้รับคืนตามสัดส่วนและตามลำดับในการเรียกร้องสิทธิเท่านั้น โดยผู้ลงทุนในหุ้นกู้อยู่ในฐานะ “เจ้าหนี้” ของบริษัท มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญที่มีฐานะเป็น “เจ้าของ” กิจการซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอันดับสุดท้าย


โดยหุ้นกู้ที่จะได้รับการชำระหนี้คืนเรียงลำดับก่อน - หลัง ได้แก่ หุ้นกู้มีประกัน หุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ หุ้นกู้ไม่มีประกันและด้อยสิทธิ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบลำดับการชำระหนี้ของหุ้นกู้รุ่นที่ตัวเองถือครองได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (Factsheet) ของหุ้นกู้รุ่นนั้น ๆ


 4. เตรียมการ เมื่อมีการบังคับชำระหนี้

เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติ หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ใช้ดุลยพินิจตัดสินใจที่จะดำเนินการบังคับชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นคนที่ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้องบังคับหลักประกัน หรือบังคับชำระหนี้ แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย และจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้โดยชื่อของผู้ถือหุ้นกู้ทุกรายจะปรากฏในทะเบียนรายชื่อล่าสุด และผู้ถือหุ้นกู้ควรจัดเตรียมเอกสาร หลักฐานการถือครองหุ้นกู้ไว้ให้พร้อม หากมีความจำเป็นจะต้องมีการยืนยันสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นกู้


 5. ติดตามความคืบหน้าการบังคับหลักประกันหรือบังคับชำระหนี้ และข่าวสาร

ผู้ถือหุ้นกู้สามารถติดตามความคืบหน้าของผลการบังคับชำระหนี้จาก “ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้” ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุน และควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและมีสติ เพราะในโลกเทคโนโลยีที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร มีทั้งข้อมูลที่จริงและไม่จริง จึงต้องคัดกรองข้อมูลอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันควรศึกษากฎหมายเพิ่มเติม เช่น นิติบุคคลล้มละลาย เพราะหากถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายก็จะได้เข้าใจกระบวนการ เพราะอย่าลืมว่า “เงินของเรา ควรพึ่งพาตัวเองด้วย”


เมื่อหุ้นกู้ผิดนัดชำระ ไม่ได้หมายความว่าผู้ถือหุ้นกู้จะสูญเงินลงทุนไปทั้งหมด ยังพอมีช่องในการได้รับเงินคืน ดังนั้น เพื่อทำให้การติดตามเงินเป็นไปอย่างราบรื่น ก็ต้องเตรียมตัวเป็นขั้นเป็นตอนและติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตัวเอง


ที่มาข้อมูล : ธนาคารไทยพาณิชย์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, สำนักงาน ก.ล.ต.


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล