X
เผยฤดูหนาว ธ.ค.นี้ อาจระบาด 3 สายพันธุ์พร้อมกัน

เผยฤดูหนาว ธ.ค.นี้ อาจระบาด 3 สายพันธุ์พร้อมกัน

4 ต.ค. 2565
840 views
ขนาดตัวอักษร

ผู้เชี่ยวชาญไวรัส เผยฤดูหนาวนี้ โอไมครอน อาจระบาดระลอกใหญ่ ระบุจะเริ่มตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2565 ซึ่งมาจาก 3 โอไมครอนกลายพันธุ์ BQ.1.1, BA.2.3.20, และ BA.2.75.2 ที่ดื้อต่อแอนติบอดีทุกชนิด และหลบภูมิฯ เก่งขึ้น เพียง 24 ชั่วโมง อังกฤษติดเชื้อกว่า 1 ล้านคน สั่งระดมฉีดเข็มกระตุ้น เริ่มเสนอให้กลับมาสวมหน้ากากฯ เราควรกังวลแค่ไหน ศูนย์จีโนมฯ รพ.รามาฯ มีคำตอบ



วันนี้ (4 ต.ค. 2565) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อมูล ผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics กล่าวถึงความกังวล ในการกลายพันธุ์ของ 3 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งยกเป็น ต้นไม้แห่งการวิวัฒนาการ ของไวรัสโคโรนา 2019 โดยระบุว่า

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไวรัสอู่ฮั่น ได้มีวิวัฒนาการกลายพันธุ์ เกิดเป็นทั้งสายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์ย่อย แตกแขนงมาแทนกันอย่างต่อเนื่อง (phylogenetic tree)



ล่าสุด โอไมครอน 3 สายพันธุ์ย่อย BQ.1.1, BA.2.3.20, และ BA.2.75.2 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ ในระดับจีโนมต่างจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ถึง 100 ตำแหน่ง เพื่อจะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ที่เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และจากการฉีดวัคซีนได้ดีขึ้น อีกทั้งยังดื้อต่อ แอนติบอดีสำเร็จทุกชนิดอีกด้วย ทำให้หลายฝ่ายกังวล ถึงการระบาดของ “โอไมครอน” ระลอกใหม่ในช่วงฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ ธันวาคม 2565 ของประเทศในแถบซีกโลกเหนือ ซึ่งอาจมีความรุนแรง

สำหรับโอไมครอน 3 สายพันธุ์ย่อยดังกล่าว เราควรกังวลแค่ไหน กับวิวัฒนาการกลายพันธุ์ ของแต่ละสายพันธุ์ จะก่อความรุนแรง และมีการแพร่ระบาดได้รวดเร็วเพียงใด ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อมูล ผ่านเฟซบุ๊กไว้ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีข้อมูลดังนี้



โอไมครอนกลายพันธุ์  3 สายพันธุ์หลัก BA.2.75.2, BA.2.3.20 และ BQ.1.1 ที่ควรเฝ้าระวัง อาจมาแทนที่ BA.5 โดยตรวจพบในแถบยุโรป หลายประเทศ และอาจเป็นชนวน ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ หรือ "Next Wave of  COVID-19" เมื่อซีกโลกเหนือ เข้าสู่ฤดูหนาว (ปรับปรุง 4/10/2565 เวลา 10:08)

สถาบันสุขภาพ (NHS) และ สำนักงานสถิติ (ONS) แห่งสหราชอาณาจักร รายงานว่าในช่วง "1 สัปดาห์" มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่เข้ารักษาตัวใน รพ. เพิ่มขึ้นเกือบ 48% โดยข้อมูลจากฐานข้อมูล รหัสพันธุกรรมโควิดโลก (GISAID) บ่งชี้ว่า มีการติดเชื้อโอไมครอน กลายพันธุ์ใหม่ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ “BA.2.3.20, BA.2.75.2, และ BQ.1.1”



โดยเฉพาะ BQ.1.1 จาก 20 ตัวอย่าง ที่อัปโหลดขึ้นมาบน GISAID เพิ่มเป็น 335 ตัวอย่างในเวลาเพียง 35 วัน ขณะนี้ ทางการอังกฤษ กำลังระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น  รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญบางท่าน เสนอให้ประชาชนกลับมา ใส่หน้ากากอนามัย และมีการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการระบาด ระลอกใหม่ หรือ "Next Wave of  COVID-19" เมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว



ข้อมูลจาก สถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหราชอาณาจักร (NHS) เดนมาร์ก, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เบลเยียม, สวีเดน, และ โปรตุเกส รายงานตรงกันว่า จำนวนผู้ที่เข้ารักษาตัวใน รพ. เนื่องจากการติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้น 20 - 48% (ภาพ 1 - 3)

โดยมีจำนวนผู้ป่วย ICU ที่ต้องใช้ เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ ต่างจาก 3 เดือนก่อนหน้า (ตั้งแต่กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา) ที่จำนวนผู้เข้ารักษาตัวใน รพ. เนื่องจากติดเชื้อโควิด-19 ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ แตกต่างจากผู้ติดเชื้อระลอกเดิม คือ ส่วนใหญ่มีอายุไม่มาก อยู่ในระหว่าง 25 - 55 ปี
 
การระบาดระลอกใหม่นี้ ทาง NHS ของอังกฤษ แนะนำให้ผู้ติดเชื้อโควิด ที่มีอาการไม่มาก (เทียบได้กับ ผู้ป่วยสีเหลือง ในประเทศไทย) แยกตัวอยู่บ้าน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไป มารับการฉีดวัคเข็มกระตุ้นทันที เมื่อถึงกำหนดเวลา

ประเทศเยอรมัน เริ่ม 1 ต.ค. 2565 กำหนดให้ประชาชน ที่เดินทางด้วยรถประจำทาง และรถไฟ กลับมาสวมใส่ หน้ากากอนามัยอีกครั้ง เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19  เพิ่มขึ้นกว่า 96,367 ราย



ในขณะที่อังกฤษ เพิ่มกว่า 1 ล้านคน ในเวลาเพียง  24 ชั่วโมง
(ภาพ 3.1)

ข้อมูลจากฐานข้อมูล รหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” บ่งชี้ว่า การระบาดระลอกใหม่ใน อังกฤษ, เดนมาร์ก, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, สวีเดน และ โปรตุเกส ครั้งนี้... มีความเป็นไปได้สูง ที่จะไม่ใช่การติดเชื้อ โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย เพียงสายพันธุ์เดียว ที่เข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดิม (BA.5) เหมือนในอดีต แต่จะเป็นการระบาดพร้อมกันอย่างน้อยถึง 3 สายพันธุ์  กล่าวคือ

BA.2.3.20 พบในฐานข้อมูล รหัสพันธุกรรมโควิดโลก "GISAID" จำนวน 119 ราย  มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการ และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ไม่ยอมรับว่า "บาซิลิสก์ (Basilisk) สัตว์ครึ่งนกครึ่งงู ในเทพนิยายกรีก"

BA.2.75.2 พบในฐานข้อมูล รหัสพันธุกรรมโควิดโลก "GISAID" จำนวน 744 ราย มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการ และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ไม่ยอมรับว่า "ชีรอน(Chiron)" สัตว์ครึ่งคนครึ่งม้า ในเทพนิยายกรีก

BQ.1.1 พบในฐานข้อมูล รหัสพันธุกรรมโควิดโลก "GISAID" จำนวน 190 ราย มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการ และผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ไม่ยอมรับว่า "เซอร์เบอรัส (Cerberus) สุนัข 3 หัว หางเป็นหัวงู เฝ้าปากประตูนรก ในเทพนิยายกรีก"

ข้อมูล จากฐานข้อมูล รหัสพันธุกรรมโควิดโลก “GISAID” บ่งชี้ว่า พบโอไมครอน BA.2.75.2 จำนวน 3 ราย ในประเทศไทย แต่ยังไม่พบ BA.2.3.20 และ BQ.1.1 ในประเทศไทย



เนื่องจากมีการถอดรหัสพันธุกรรม ทั้งจีโนมของทั้ง 3 สายพันธุ์ย่อย ที่มีการจัดเก็บ ตามช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ทำให้สามารถนำข้อมูล (รหัสพันธุกรรม ตำแหน่งกลายพันธุ์ และเวลา) มาคำนวณหาความได้เปรียบ ในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)



โดยพบว่า ทั้ง 3 สายพันธุ์ มีความได้เปรียบ ในการเติบโต-แพร่ระบาด ไม่แตกต่างกันมาก แต่เหนือกว่า BA.5 ทำให้คาดว่า มีความเป็นไปได้ ที่จะมีการระบาดเข้ามา แทนที่ BA.5 พร้อมกันทั้ง 3 สายพันธุ์ ในเร็ววันนี้





ความได้เปรียบ ในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)

BA.2.3.20 > BQ.1.1 > BA.2.75.2 เมื่อเทียบกับ BA.5 (ภาพ 4.0)

BA.2.75.2 เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 0.5 เท่า (57%) (ภาพ 4)

BQ.1.1 เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 1.7 เท่า (176%) (ภาพ 5)

BA.2.3.20 เหนือกว่า BA.5 ประมาณ 1.8 เท่า (184%) (ภาพ 6)





ความได้เปรียบ ในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage)

BA.2.3.20 เหนือกว่า BA.2.75.2 ประมาณ 1.1 เท่า (110%) (ภาพ 7)

BA.2.3.20 แตกต่างจาก BQ.1.1 ไม่มากประมาณ 0.01 เท่า (1%) (ภาพ 8)

ในทางปฏิบัติ ความได้เปรียบ ในการเติบโต-แพร่ระบาด (relative growth advantage) เพียง 2% - 3% จะไม่ก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงอะไร ในขณะที่การเติบโต - แพร่ระบาด ตั้งแต่ 10% ขึ้นไป (เช่น ความได้เปรียบ ในการเติบโต-แพร่ระบาด ระหว่าง BA.5* ที่มีมากกว่า BA.2*) อาจนำไปสู่การระบาดครั้งใหม่ ทั้งนี้ ต้องคำนึงด้วยว่า การระบาดใหญ่ จะขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ประกอบร่วมด้วยเช่นกัน

ปัจจุบัน โอไมครอนสายพันธุ์ใหม่ แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงมีการจำกัดขอบเขต การคาดการณ์ให้เหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งจะสามารถคาดคะเน ถึงการเติบโตของ ผู้ป่วยโควิดรายใหม่ ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ได้ถูกต้องมากขึ้น



ขณะนี้ BA.2.3.20 และ BQ.1.1 กำลังระบาดเข้ามาแทนที่ BA.5, BA.4.6 และ BA.2.75.2 ในหลายประเทศทั่วโลก

BQ.1.1 มีการกลายพันธุ์ 3 ตำแหน่งสำคัญ คือ R346T (พบใน BA.4.6 มาก่อน), K444T, และ N460K ช่วยให้หลบภูมิคุ้มกันได้ดี และดื้อต่อแอนติบอดีสำเร็จรูปทั้งหมด ส่วนหนามที่กลายพันธุ์ไป จากการทดลอง ในหลอดทดลอง พบว่า สามารถจับกับผิวเซลล์ จากอวัยวะอื่นได้หลากหลาย นอกเหนือไปจากเซลล์ปอด ทั้งยังก่อให้เกิด การหลอมรวมของเซลล์ ที่อยู่ใกล้ชิดติดกัน เป็นเซลล์ขนาดใหญ่ (fusogenicity) ดึงดูดให้ภูมิคุ้มกัน ของร่างกายเข้ามาทำลาย เกิดอาการอักเสบที่รุนแรงขึ้น (ภาพ 9 - 10)



BA.2.3.20 มีการกลายพันธุ์ 10 ตำแหน่ง M135T, N164K, H245N, G257D, K444R, N450D, L452M, N460K, E484R และ R493Q แต่ยังโชคดี ที่แอนติบอดีสำเร็จรูปส่วนใหญ่ รวมทั้งแอนติบอดีค็อกเทล ทั้ง “เอวูเชลด์ (Evusheld” และ “เบบเทโลวิแมบ (Bebtelovimab)” ยังสามารถใช้ยับยั้ง การเพิ่มจำนวนของ BA.2.3.20 ในหลอดทดลองได้ดี (ภาพ 9 - 10)



การกลายพันธุ์ ของโอไมครอน BA.2.3.20, BA.2.75.2, และ BQ.1.1 มีลักษณะที่เรียกว่า "convergent mutation" คือ การที่สิ่งมีชีวิต จุลชีพ หรือ ไวรัสต่างสายพันธุ์กัน เช่น BA.2.75.2 , BA.2.3.20 (มีบรรพบุรุษ คือ BA.2) และ BQ.1.1 (มีบรรพบุรุษ คือ BA.5) มีวิวัฒนาการ การกลายพันธุ์มาคล้ายกัน (N460K และ R493Q) เพื่อหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน หรือ ดื้อต่อแอนติบอดีสำเร็จรูป ชนิดเดียวกัน (ภาพ 11)

ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน กังวลว่า โอไมครอน สายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังอุบัติขึ้นมา (BA.2.75.2 , BA.2.3.20 และ BQ.1.1) จะมีการกลายพันธุ์ ที่หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกัน จากการติดเชื้อตามธรรมชาติ และดื้อต่อแอนติบอดีสำเร็จรูป มากกว่าไวรัสโคโรนา 2019 สายพันธุ์ดั้งเดิม ก่อให้เกิดการระบาด ของโควิด-19 ระลอกใหม่ (next wave of covid-19) ขึ้นได้พร้อมกัน หลายสายพันธุ์ย่อย


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เฟซบุ๊ก : Center for Medical Genomics
(ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล)

https://www.facebook.com/CMGrama



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2024 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)