X
ไก่ไปตีกับใครมา

ไก่ไปตีกับใครมา

25 ม.ค. 2566
290 views
ขนาดตัวอักษร


เพจเฟซบุ๊กดัง เเผยภาพและข้อความที่มีลูกเพจส่งมาถามถึงเรื่อง ไปซื้อไก่มาแต่ได้ไก่ที่ไม่สุข แล้วพอนำไปต้มอีกที มีรอยช้ำเขียวๆ ยังกับไปตีกับใครเขามา แบบนี้มันจะเป็นอะไรไหม โดยได้โพสต์ลงในสื่อโซเชียล


งานนี้ชาวเน็ตก็ต่างคอมเมนต์ ช่วยกันไขปริศนาให้กับลูกเพจรายนี้ 

บ้างก็ว่า ไก่ตัวนี้น่าจะเป็นลูกศิษย์พระอินทร์ตกสวรรค์มา และบางคอมเมนต์ก็บอกว่า ไก่ที่ตลาดเขาจะควักเครื่องในออกหมด ถึงดีแตกก็จะไม่เป็นแบบนี้ 


ล่าสุด  เพจเฟซบุ๊ก  อ๋อมันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ของรศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อมูลโดยระบุว่า….. “เรื่องที่เป็นห่วงในเทศกาลตรุษจีนพบว่ามีการใช้เชือกฟางซึ่งมีสีสันหลากหลายมัดเป็ด-ไก่แล้วนำลงไปต้มสุก มักพบในกรณีที่มีการต้มจำนวนมากเพื่อจำหน่าย เนื่องจากสะดวกในการยกขึ้นจากหม้อ กระทะต้ม และแขวนให้แห้ง .... จัดว่ามีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ 


เนื่องจากสีย้อมในเชือกฟางมักเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งจะมีสารเคมีหลายตัวเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น สารตะกั่ว ปรอท สารหนู โครเมียม เป็นต้น สีจะละลายปนเปื้อนในอาหารได้ ... ประการสำคัญ ความร้อนไม่สามารถทำลายสารเคมีเหล่านี้ได้ เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการทั้งชนิดเฉียบพลัน เช่น สารปรอทอาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และสะสมในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในระยะยาวได้  ควรใช้เชือกด้ายที่ทำจากฝ้าย หรือใช้เชือกกล้วย หรือเชือกปอที่ทำจากต้นปอธรรมชาติ ไม่มีการย้อมสีมัดไก่-เป็ดขณะนำลงไปต้มแทนการใช้เชือกฟาง"

จริงๆ แล้ว นอกจากไก่ต้ม ก็ยังมีอาหารไทยอีกหลายอย่าง ที่มีคนเอาเชือกฟางมามัดในขั้นตอนการปรุงอาหาร เพื่อให้คงรูปทรงไว้แล้วนำไปผ่านความร้อนเพื่อทำให้สุก เช่น บ๊ะจ่าง ไส้กรอกอีสาน ปูนึ่ง ฯลฯ ที่จะต้องใช้เชือกฟางนำมามัด ซึ่งก็ไม่ควรทำทั้งนั้นครับ 

เชือกฟาง ทำมาจากเม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีน (Polypropylene, PP) ผสมกับเม็ดสีต่างๆ เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว ก่อนจะนำไปผ่านการผลิตแบบรีด ซึ่งเม็ดพลาสติกจะถูกหลอมละลาย ผ่านเกลียวรีดภายในเครื่องจักรจากความร้อนและความดันสูง ก่อนจะไหลผ่านแม่พิมพ์เชือกที่เตรียมไว้ เพื่อให้ได้เชือกฟางออกมา

ในเชือกฟางมีสารเคมีหลายชนิดผสมอยู่ ตัวอย่างเช่น ในเม็ดสีที่ใช้ผสมกับพลาสติก จะมีสารโลหะหนัก ได้แก่ ตะกั่วและแคดเมียม เจือปนอยู่และสามารถปะปนมากับอาหารให้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการเติมสารหน่วงไฟ คือพวกโบรมิเนเตด และคลอริเนทเต็ท เพื่อป้องกันการติดไฟในกระบวนการผลิต ซึ่งสารหน่วงไฟกลุ่มนี้หากเกิดไฟไหม้แล้ว จะให้สาร "ไดออกซิน" เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้

หากต้องการจะใช้เชือกฟางมาช่วยในการประกอบอาหาร ก็จะต้องเลือกใช้เชือกฟางชนิดพิเศษ ที่มีคุณภาพสูง ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า สามารถโดนความร้อนได้โดยไม่มีสารเจือปนออกมา หรือใช้เชือกชนิดอื่นๆ ทดแทนเชือกฟาง เช่น เชือกด้าย เชือกฝ้าย หรือใช้ไม้ไผ่มัดแทน จะให้ความปลอดภัยมากกว่า

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล