X
วันหยุดออกไปเที่ยว อว.แฟร์ เติมความรู้เรื่องวิทย์ที่สนุกยิ่งกว่าเดิม

วันหยุดออกไปเที่ยว อว.แฟร์ เติมความรู้เรื่องวิทย์ที่สนุกยิ่งกว่าเดิม

27 ก.ค. 2567
1630 views
ขนาดตัวอักษร

27 ก.ค.67 - เหลืออีก 2 วันสุดท้าย ไม่มาไม่ได้! พาไปชมงานวิทย์ฯ ที่โชว์เทคโนโลยีล้ำๆ ในงาน อว.แฟร์ กับไฮไลท์สุดพิเศษ ดินจากดวงจันทร์ที่ส่งตรงมาโชว์ที่ประเทศไทยครั้งแรก และกิจกรรมสนุกๆ อีกเพียบไปลุยกันเลย


หยุดยาวแบบนี้ ลองออกมาหากิจกรรมสนุกๆ กันเถอะ และมีหนึ่งงานที่เหมาะมากกับเด็กๆ ที่จะได้ทั้งเล่น และเรียนรู้เกี่ยวกับ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ที่ใกล้ตัวยิ่งขึ้น ไปกันเลยกับงานนี้ “อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND” มหกรรมยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จะจัดถึงวันที่ 28 กรกฎาคม นี้


กิจกรรม อว.แฟร์ เปิดเข้าชมฟรี แถมมีลุ้นรางวัลพิเศษด้วยนะ แต่แค่เข้ามาเล่น เข้ามาเรียนรู้ก็คุ้มแล้ว  

โดยแบ่งนิทรรศการออกเป็น 6 โซนหลัก ได้แก่

1) โซน SCIENCE FOR ALL WELL-BEING ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามจากนวัตกรรมของคนไทย

2) โซน SCIENCE FOR FUTURE THAILAND นำเสนอขบวนรถไฟแห่งอนาคต ฉายภาพให้เห็นประเทศไทยในอนาคตอีก10 ปีข้างหน้า

3) โซน INSPIRED BY SCIENCE ที่จะจุดประกายความคิด สร้างจินตนาการและแรงบันดาลใจให้ทุกคน

4) โซน SCIENCE FOR LIFELONG LEARNING เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมแนะแนวอาชีพแห่งอนาคต

5) โซนSCIENCE FOR EXPONENTIAL GROWTH แสดงศักยภาพของงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทย

6) โซน STARTUP LAUNCHPAD แสดงถึงศักยภาพในการผลักดัน Startup ไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง


เข้ามาปุ๊บโดดเด่นปั๊บกับชิงช้าสวรรค์ ที่รอต้อนรับเด็กๆ และครอบครัว มาลองนั่งชิงช้าสวรรค์สไตล์งานวัด ที่เครื่องเล่นที่คุ้นเคยกันดีแบบนี้ก็แฝงด้วยเรื่องราวของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นด้วยนะ


แต่ฮิตไปกว่านั่น ขนาดที่เด็กๆ ต้องต่อคิวยาวมาก กับนิทรรศการของ GISTDA ที่บูธ Space GISTDA โซน F


นำโมเดลสถานีอวกาศเสมือนจริง มาสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชน ซึ่งสถานีอวกาศจำลองนี้มีความสูงจากพื้น 5 เมตร กว้าง 12 เมตร ภายในตัวสถานีอวกาศลำนี้จะประกอบด้วยระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการสำรวจอวกาศ อาทิ ระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ หรือ SPACE WEATHER เพื่อการติดตามและเฝ้าระวังภัยพายุจากอวกาศ และระบบการแจ้งเตือนความเสี่ยงจากการชนกันกับวัตถุอวกาศ ซึ่งระบบต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบและความเสียหายต่อการปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศ รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้วยให้เห็นถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศและเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจจากยานอวกาศที่มีความเสมือนจริงทุกองค์ประกอบ 


โดยสถานีอวกาศ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ที่ใช้เป็นฐานปฏิบัติการด้านการสำรวจอวกาศ การทดลองและการวิจัยในอวกาศ สถานีอวกาศถือเป็นสื่อเชิงสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จของมนุษย์ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สนใจงานด้านอวกาศ รวมทั้งเสริมสร้างให้เกิดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีอวกาศนั่นเอง


ถัดมาที่บูธของ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM ชวนทุกคนไปสนุกกับนิทรรศการ INSPIRED BY SCIENCE ที่จะเปิดจินตนาการสู่การสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ มีไฮไลท์สุดพิเศษมากมาย

เช่น ตื่นเต้นไปกับเกม VR 360 GAMING CHAIR, พบกับความสวยงามของการผสมผสานศิลปะและดิจิทัลอย่างลงตัว กับ นิทรรศการ Immersive Wall Experience, สนุกไปกับ AI Photo Booth สานฝันอาชีพที่คุณอยากเป็น และหุ่นยนต์สุดล้ำ สุนัข Unitree กับ โรโบเทสเปียน ฮิวมานอยด์สุดอัจฉริยะ ซึ่งผู้เข้าชมงานนี้ จะได้สนุกไปกับกิจกรรมที่ชวนมาสร้างแรงบันดาลใจไปด้วยกัน พร้อมส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคต"


อีกนิทรรศการที่พลาดไม่ได้ นั้นก็คือ บูธ NARIT คืองานนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ยกห้องแล็ปเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงจากเชียงใหม่มาตั้งกลางกรุง นำอุปกรณ์ เครื่องมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากโจทย์ดาราศาสตร์ จำนวนกว่าครึ่งร้อยมาจัดแสดง และไฮไลท์สำคัญที่ต้องมาเห็นด้วยตาตัวเอง “ดินดวงจันทร์จากยานฉางเอ๋อ 5” มาจัดแสดงในประเทศไทย ดินดังกล่าวมีชื่อว่า “หมิงเยว่จ้าวหว่อหวน” (明月照我还) มีความหมายว่า “ดวงจันทร์ส่องแสงมาที่ฉัน” โดยมีน้ำหนัก 75 มิลลิกรัม ถูกจัดเก็บในคริสตัลทรงกลมรูปดวงจันทร์เต็มดวง ทำจากกระจกพิเศษที่ใช้เป็นแว่นขยายส่องดูดินดวงจันทร์ได้



สำหรับดินดวงจันทร์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของตัวอย่างดินและหินดวงจันทร์จำนวน 1,731 กรัม ที่ยานฉางเอ๋อ 5 นำกลับมายังโลกเมื่อปี พ.ศ. 2563 เพื่อใช้ศึกษาวิจัยภายใต้โครงการสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์ (International Lunar Research Station: ILRS) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567


และยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกเยอะ เด็กๆ ที่มาได้เล่นเต็มอิ่มแน่นอน รวมถึงการแนะแนวอาชีพในอนาคต บูธแสดงผลงานจากผู้ประกอบการและสตาร์ตอัป มากกว่า 300 บูธ ช้อปผลิตภัณฑ์ฐานงานวิจัยการันตีรางวัลจากหลายเวทีไม่ว่าจะเป็น อาหารนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Functional Food) อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เครื่องสำอาง และสินค้าที่พัฒนาจากวิทยาศาสตร์งานวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และสินค้าด้าน Soft power โดยมีสินค้ามากกว่า 200 รายการกว่า 20,000 ชิ้น และยังมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลประจำวัน ได้แก่ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า วันละ 2คัน และรางวัลสูงสุดรถกระบะไฟฟ้า จำนวน 1 คันพร้อมของรางวัลอื่น ๆ อีกมากกว่า 17,000 ชิ้น


นอกจากนี้ อพวช. หรือ NSM ครั้งแรกของไทย NSM ประกาศเจตจำนงค์สร้างพลังขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ระดับชาติ ดึง 47 หน่วยงานเครือข่ายพิพิธภัณฑ์-แหล่งเรียนรู้-นักสื่อสารวิทย์ สร้างสังคมวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็ง กระจายสู่ทุกภาคส่วน ซึ่งโครงการ Empowering Science Communication and Science Museums เครือข่ายพลังสื่อสารวิทยาศาสตร์ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อร่วมประกาศเจตจำนงค์ความร่วมมือในการรวมพลังเป็นเครือข่ายในการร่วมสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนกว่า 47 หน่วยงาน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้ คือ สร้างความรู้และทักษะให้กับบุคลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ เพื่อจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคม ชุมชน โรงเรียน และครอบครัว ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกระบวนการคิด และความคิดสร้างสรรค์ให้กับบุคลากรในประเทศ เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันวิทยาศาสตร์ รวมทั้งเปิดเวทีในการแลกเปลี่ยนมุมมองและองค์ความรู้ ในประเด็นของกรณีศึกษา แนวทางการดำเนินงานด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางความร่วมมือในอนาคตในการส่งเสริมความเข้มแข็งของแต่ละเครือข่ายต่อไป”


ไปเที่ยว อว.แฟร์ กันได้ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 เปิดให้ประชาชนเข้าชมงานตั้งแต่เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.mhesifair.com

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล