กทม. 2 มี.ค.64 – วช. มอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ปี 64 ให้แก่ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน ด้านวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย พัฒนาวัสดุโครงสร้างเบาสำหรับวัสดุทางวิศวกรรมสมัยใหม่จากวัสดุไบโอคอมโพสิต ที่มีความทนทาน แข็งแรง ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน NRCT Talk เปิดบ้านงานวิจัยและนวัตกรรม by NRCT ครั้งที่ 2 เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมวิจัย ประจำประจำปี 2564 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เจ้าของผลงานการวิจัยพัฒนาวัสดุโครงสร้างเบาสำหรับวัสดุทางวิศวกรรมสมัยใหม่ จากวัสดุไบโอคอมโพสิตที่ใช้เส้นใยธรรมชาติเป็นองค์ประกอบ รวมทั้งการวิจัยพัฒนาวัสดุไบโอพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น พอลิเมอร์ต้านเชื้อแบคทีเรีย พอลิเมอร์ที่สามารถจดจำรูปร่างได้ และพอลิเมอร์ซ่อมแซมตัวเองได้ เป็นต้น
ศึกษากระบวนการผลิตวัสดุไบโอพอลิเมอร์ที่มีคุณสมบัติพิเศษและวัสดุไบโอคอมโพสิต
ที่มีความแข็งแรงมากขึ้นเทียบเท่าโลหะ
แต่สามารถย่อยสลายได้ลดปริมาณขยะและสิ่งของเหลือทิ้งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระบวนการผลิตแบบอัดขึ้นรูปด้วยความร้อน
การฉีดขึ้นรูป และหล่อขึ้นรูป
เพื่อทดแทนและแก้ปัญหาการใช้พลาสติกและเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุ โดยตั้งเป้าให้นำงานวิจัยต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์
และชิ้นส่วนยานยนต์ ที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยของประเทศ
และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ เป็นรางวัลที่มอบให้นักวิจัยที่มีสัญชาติไทย ซึ่งได้อุทิศตนให้แก่การวิจัยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือหลายเรื่องในกลุ่มวิชาการหรือสหวิทยาการอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยดีเด่นที่แสดงถึงความคิดริเริ่ม เป็นผลงานวิจัยที่ทำสะสมไม่น้อยกว่า 5 ปี และเป็นผู้ที่มีจริยธรรมของนักวิจัยจนเป็นที่ยอมรับและยกย่องในวงวิชาการนั้น ๆ โดยผลงานวิจัยสร้างประโยชน์ในเชิงวิชาการ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และเชิงนโยบายอย่างต่อเนื่อง สมควรเป็นแบบอย่างแก่นักวิจัยรุ่นหลัง
สำหรับศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน
อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นนักวิจัยที่ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ หรือเทียบเท่า Provatdozent สาขาวิศวกรรมเครื่องกล สังกัด Chemnitz
University, GERMANY ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดของประเทศเยอรมนี
และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์
สาขาวิศวกรรมวัสดุศาสตร์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดของประเทศไทย
นักวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับวัสดุคอมโพสิต โดยมุ่งเน้นการใช้วัสดุที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หรือวัสดุทางเลือกใหม่สำหรับนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม สำหรับนักวิจัยที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ
จะได้เหรียญรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ พร้อมประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติคุณ
และเงินรางวัลในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร