7 มิ.ย. 64 - เตรียมจับตาทิศทาง อว. พัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม เสริมศักยภาพพัฒนาประเทศ ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 11 จุดหน่วยงาน อว. ราบรื่น คาดฉีดได้ 30,000-50,000 โดสต่อวัน
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย เชิญร่วมรับฟัง และจับตาการแถลงนโยบายการพัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นทิศทางสำคัญในการยกระดับนักวิจัย นักนวัตกรไทย เสริมศักยภาพในการพัฒนาประเทศก้วยการวิจัยและนวัตกรรม
พร้อมร่วมพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับเครือข่ายขับเคลื่อนไทยโดยคนวิจัยกับโจทย์ท้าทายในยุควิถีใหม่ ในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 - 10.00 น. รับชมถ่ายทอดผ่านช่องทาง Facebook LIVE : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ลงทะเบียนเข้าร่วมงานผ่านเว็บไซต์ : https://rgj-rri-conference.nrct.go.th/
ขณะที่ในวันนี้เป็นวันแรกของเปิดจุดดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตามวาระแห่งชาติสร้างภูมิคุ้มกันหมู่พร้อมกันทั่วไทย สำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ดูแลศูนย์ฉีดกลาง จำนวน 11 จุด
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็น 1 ใน 11 ศูนย์ ที่ อว.จัดตั้งขึ้นในการให้บริการฉีดวัคซีน ซึ่งภาพรวมการดำเนินการเป็นไปด้วยความราบรื่นและเรียบร้อย โดยยังได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานและผู้เข้ารับวัคซีนโควิด-19
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่บุคลากร นักศึกษาของมหาวิทยาลัยรามคำแหง องค์กร สถาบันอื่นๆ ในประเภทกลุ่ม และประชาชนตามที่นัดหมาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าภารกิจจะแล้วเสร็จ โดยได้รับการจัดสรรวัคซีนจาก ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข และได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ในการควบคุมการฉีดวัคซีนและส่งต่อกรณีวัคซีนมีผลข้างเคียง โดยสามารถฉีดวัคซีนประมาณ 2,000 คนต่อวัน
ขณะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีน KU สู้ COVID-19 รองรับ บุคลากร นิสิต มก. นักศึกษา มหาวิทยาลัยใกล้เคียง หน่วยงานกระทรวง อว. หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ-เอกชน และชุมชนโดยรอบ โดยศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวว่า กำลังการฉีดวัคซีนโดยรวมในกรุงเทพฯ และปริมณฑลทั้ง 11 จุด ที่ อว.ดูแลจะอยู่ที่ประมาณ 30,000-50,000 โดสต่อวัน โดยจะดำเนินการฉีดไปจนกว่า คนไทยและคนที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดได้รับวัคซีน
โดยเป้าหมายของศูนย์บริการฉีดวัคซีนของ มก.ในเดือน มิ.ย.นี้ มีจำนวนประมาณ 45,000 โดส ฉีดวันละประมาณ1,500-5,000 คน ตามการนัดหมาย มีทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ จิตอาสาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฏเกล้า และ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ มาช่วยฉีดวัคซีน
โดยภายใน มก. จะมีศูนย์บริการฉีดวัคซีน ทั้งหมด 2 ศูนย์ ได้แก่ศูนย์บริการฉีดวัคซีน KU สู้ COVID-19 ภายใต้ อว.ที่อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ กำหนดฉีดเวลา 8.00-16.00 น. วันที่ 7, 8, 11, 12, 18, 19, 26, 27 มิ.ย. 2564
และศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยสำนักงานประกันสังคม ณ อาคารเสรีไตรรัตน์(ยิมเนเซียมด้านถนนวิภาวดีรังสิต) กำหนดฉีดเวลา 8.00-15.00 น. วันที่ 7-21 มิ.ย.64
ส่วนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด – 19 มหาวิทยาลัยศรีปทุม ณ วิทยาลัยเทคโนโลยีไทยบริหารธุรกิจ โดย กทม.- หอการค้าไทย-มหาวิทยาลัยศรีปทุม-โรงพยาบาลตากสิน เปิดให้บริการฉีดวัคซีนเป็นทางการวันแรก สำหรับประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าฉีดให้ได้อย่างน้อย 30,000 รายต่อเดือน
ขณะที่ศูนย์ฉีดวัคซีนแห่งอื่นๆ อีก 9 ศูนย์ ได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.มหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ม.รังสิต ม.ราชภัฎธนบุรี และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีผู้ทยอยมารับบริการฉีดวัคซีนต่อเนื่องตลอดทั้งวัน