29 มิ.ย.64- ข่าวดีวงการพืชพรรณไม้ไทย เมื่อนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ค้นพบพันธ์ุไม้กระดังงาชนิดใหม่ของโลก5 ชนิด ทั้งหายาก และเสี่ยงสูญพันธุ์ เตรียมศึกษาเพิ่มเติมเพื่อการอนุรักษ์ และหาประโยชน์แฝงจากพืชชนิดใหม่นี้
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย น.ส.อานิสรา ดำทองดี นักศึกษาปริญญาเอกสาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์ น.ส.ชนิตา อยู่สุขขี และนายเอกพล โพธิขวัญ นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาการสอนชีววิทยาน.ส.หทัยชนก จงสุข นักศึกษาปริญญาโทสาขาวิชาชีววิทยา และนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง นักวิจัยอิสระ ร่วมกันค้นพบและตีพิมพ์พืชชนิดใหม่ของโลก วงศ์กระดังงา (Annonaceae) จำนวน 5 ชนิด ได้แก่
1.ต่างหูคลองเงิน (Orophea sichaikhanii Damth., Aongyong & Chaowasku) พบที่จังหวัดระนอง
2.กระเช้าเขาสก (Pseuduvaria khaosokensis Yoosukkee & Chaowasku) พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
3.แสดทักษิณา (Winitia thailandana Chaowasku & Aongyong) พบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี
4.บุหรงฮาลาบาลา (Dasymaschalon halabalanum Jongsook & Chaowasku) พบที่จังหวัดนราธิวาส
5.การเวกกลีบเรียว (Artabotrys angustipetalus Photikwan & Chaowasku) พบที่จังหวัดกาญจนบุรี
โดยพืชทั้ง 5 ชนิดได้ถูกตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ คือ Plant Ecology and Evolution, Annales Botanici Fennici, European Journal of Taxonomy, Phytotaxa และ Willdenowia ตามลำดับทั้งนี้พืชทั้ง 5 ชนิดนี้ นับเป็นพืชหายาก ใกล้สูญพันธุ์ จำเป็นต้องอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน อีกทั้งควรศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อพัฒนาต่อยอดเป็นพืชสมุนไพรและพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับ พบว่ากระเช้าเขาสกและแสดทักษิณามีดอกสีสันสวยสด
ในขณะที่ต่างหูคลองเงินมีดอกรูปร่างน่ารักคล้ายต่างหู ส่วนบุหรงฮาลาบาลามีดอกขนาดใหญ่ ยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร และการเวกกลีบเรียวมีดอกกลิ่นหอมแรง สามารถปลูกเป็นไม้เลื้อยทำซุ้มให้ร่มเงาได้
โดยการค้นพบครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และยังมีสิ่งที่มีชีวิตที่รอการค้นพบอยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาและความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายในระดับชนิด ยีน หรือระบบนิเวศ ปัจจุบันยังขาดแคลนนักอนุกรมวิธานอยู่เป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันนักอนุกรมวิธานที่ทำงานอยู่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ทำให้สิ่งมีชีวิตที่เปราะบางอาจสูญพันธุ์ก่อนการถูกค้นพบและตั้งชื่อวิทยาศาสตร์