กทม. 2 มี.ค.64 - ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากซิโนแวค จำนวน 200,000 โดส และ แอสตราเซเนกา จำนวน 100,000 โดส โดยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มแรกไปแล้ว ซึ่งทั้งหมดยังเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทต่างประเทศ ที่การสั่งซื้อหรือนำเข้ายังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ดังนั้นประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าพัฒนาวัคซีนด้วยตัวเอง ที่จะทำให้มีจำนวนวัคซีนมี่มากพอ สามารถลดและป้องกันการติดเชื้อเควิด-19 ในระยะยาว
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ซึ่งวัคซีน ChulaCov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่สร้างขึ้นจากชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19
เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัส และกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไว้ต่อสู่กับไวรัสเมื่อสัมผัสเชื้อไวรัส โดยหลังจากวัคซีนชนิด mRNA กระตุ้นให้สร้างกายสร้างโปรตีนดังกล่าวแล้ว ชิ้นส่วน mRNA จะถูกสลายไปในเวลาไม่กี่วัน
ขณะนี้วัคซีน ChulaCov19 ผ่านการทดลองเข็มที่สองในลิง ซึ่งพบว่าลิงสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูงและมีสุขภาพดี
และจากผลทดสอบในหนูชนิดพิเศษที่ติดเชื้อโควิด-19 พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถป้องกันหนูไม่ให้เจ็บป่วยจากโรคได้ 100% และยับยั้งเชื้อไม่ให้เข้ากระแสเลือดได้ 100% รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อที่ใส่เข้าไปในจมูกของหนูทดลองและเชื้อในปอดลงไปได้มากกว่า 10,000,000 เท่า
โดยหลังจากนั้นจะเข้าสู่การทดลองในมนุษย์ซึ่งเป็นอาสาสมัคร ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมนี้
ทั้งนี้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ และมีการฉีดให้แก่ประชาชนแล้วกว่า 140 ล้านโดสทั่วโลก
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้สนับสนุนทุนวิจัยวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญที่ไทยสามารถผลิตวัคซีนได้เองทุกขั้นตอน ต่างจากในอดีตที่งานวิจัยมีเป้าหมายแค่เพื่อตีพิมพ์ แต่สำหรับงานวิจัยวัคซีนครั้งนี้ยังมีเป้าหมายขับเคลื่อนไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่อไป และสร้างความพร้อมให้ไทยมีวัคซีนในการดูแลประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพที่สุด